
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
มทร.ธัญบุรีเปิดแล็บสร้างมูลค่าให้ส่วนเหลือทิ้งของผลไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบ “ชาเปลือกมะม่วง” ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และ “แยมเปลือกแตงโม” เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้เพคตินในการประกอบอาหาร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร นำเสนอ 2 ผลงาน วิจัยคือชาเปลือกแตงโม โดยนำของเหลือทิ้งจากครัวเรือน ร้านค้าและอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งลดปริมาณขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกผลไม้
นางสาวปวริศา วรรณกุล ร่วมกับนางสาวกนกวรรณ สังข์ศิลป์ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มองสิ่งที่ทุกคนไม่เห็นคุณค่านำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ”ชาเปลือกมะม่วง้ำดอกไม้”สรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ คือสารที่สามารถยับยั้ง หรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน
“ปัจจุบันส่วนเหลือทิ้งจากแผงตลาดเช่น ร้านขายผลไม้สด ร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง บางส่วนทิ้งไปโดยไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งเปลือกมะม่วงมีปริมาณ 12-15% ของผลมะม่วงอุดมด้วยสารประกอบฟีนอลและแคโรทีนอยด์ ที่มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ”นางสาวปวริศา กล่าวและว่าเหตุที่เลือกมะม่วงน้ำดอกไม้เพราะมีวิตามินซีวิตามินอีและแอโรทีน ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
ในการแปรรูปเป็นชา เนื่องจากชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิมในทุกกลุ่ม โดยมีผู้บริโภคมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากน้ำ ทั้งนี้ ส่วนที่นำมาใช้แปรรูปคือ เปลือกมะม่วงน้ำดอกไม้ดิบ จากการนำไปทดลองให้กลุ่มตัวอย่างดื่มพบว่า ให้การยอมรับทั้งรสชาติ กลิ่นสีในอนาคตสามารถชาเปลือกมะม่วงน้ำดอกไม้ไปต่อยอดโดยบดเป็นผงละลายในน้ำเย็น ใส่น้ำแข็งรับประทานได้อีกด้วย
ขณะที่ “เพคตินจากเปลือกแตงโมเหลือใช้นำไปผลิตแยม” ผลงานของนางสาวสุวัฒฐา จันทร์อิน และนางสาวจิรัชญา เกาะลอย นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเนื่องจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยนำเข้าเพคตินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในราคาค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย
นางสาวสุวัฒฐา กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าในเปลือกของแตงโมมีเพคตินสะสมอยู่ตามธรรมชาติ จึงสกัดออกมาด้วยกรดไฮโดรคลอริกและน้ำกลั่นพร้อมทั้งศึกษาคุณสมบัติพบว่าใกล้เคียงกับเพคตินทางการค้า ทั้งทางกายภาพเคมีและประสาทสัมผัส พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในแยมทุกสูตร
ผลงานวิจัยข้างต้นของคณะเทคโนโลยีการเกษตรจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้เพคตินในการประกอบอาหาร นำของเหลือทิ้งจากครัวเรือน ร้านค้า หรืออุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังสามารถเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผักท้องถิ่นและสามารถเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น