
มติชน ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยในพิธีลงนาม ความร่วมมือในโครงการพัฒนาระบบประเมินและบ่งชี้สมรรถนะเพื่อพัฒนาการศึกษา ผู้พิการระหว่างมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินและยกระดับสมรรถนะ ความสามารถของผู้พิการเพื่อ ส่งเสริมการเรียนรู้และการประกอบอาชีพที่ตรงกับความสนใจและความถนัดของผู้พิการ เพิ่มโอกาสให้ผู้พิการมีงานทำสูงขึ้น โดยแบบทดสอบและประเมินผลสมรรถนะผู้พิการใน รูปแบบของซอฟต์แวร์ที่ มทร.ธัญบุรี จัดทำขึ้นเป็นเครื่องมือทดสอบสมรรถนะผู้พิการเป็นรายบุคคลตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้พิการที่อยู่ใน วัยทำงาน โดยผู้พิการที่อยู่ในวัยเรียนครูจะเป็นผู้ทดสอบและประเมินเด็กเป็นช่วงๆ เช่น ช่วงปฐมวัย ช่วง ม.3 ที่เด็กจะจบออกไปทำงานหรือเรียนต่อโดยป้อนข้อมูลผู้เรียนในแบบทดสอบ ระบบจะนำข้อมูลไปประเมินและบ่งชี้สมรรถนะว่าเด็กคนนั้นมีความถนัดหรือมีสมรรถนะด้านใด ครูจะได้ส่งเสริมและพัฒนาได้ถูกทาง เช่น จบ ม.3 แล้วจะเรียนต่อสายอาชีพก็จะรู้ว่าตนเองชอบหรือถนัดอาชีพใด ก็เลือกเรียนสายอาชีพนั้น และอีกช่วงก็คือตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสำหรับเด็กเก่งที่มีศักยภาพสามารถเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ แบบทดสอบนี้นอกจากครูแล้ว ผู้ที่ไม่ได้พิการมาแต่กำเนิดสามารถทดสอบตัวเองได้ รวมถึงผู้พิการในวัยทำงาน อยากรู้ว่าตนเองมีสมรรถนะด้านใดสามารถใช้แบบทดสอบนี้ทดสอบตนเองได้ เมื่อพบว่าอะไรที่ยังเป็น จุดอ่อนก็ไปเรียนรู้เพิ่มเติม ส่วนศูนย์จัดหางาน นายจ้างที่จะรับผู้พิการเข้าทำงานก็สามารถใช้ผลทดสอบสมรรถนะเป็นเกณฑ์ในการพิจารณารับผู้พิการเข้าทำงาน และสุดท้ายคือ หน่วยงาน ด้านการศึกษาและภาครัฐจะได้นำผลการประเมินสมรรถนะผู้พิการโดยภาพรวมไปกำหนดนโยบายและงบประมาณในการพัฒนาผู้พิการทั้งด้านการศึกษา การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำของผู้พิการต่อไป โดยเบื้องต้นใช้งบประมาณในการจัดทำโครงการประมาณ 10 ล้านบาท
อาจารย์พลวัฒน์ จินตนาภรณ์ หนึ่งในทีมวิจัยและพัฒนาระบบประเมินและบ่งชี้ สมรรถนะฯ ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มจากมีนักศึกษาผู้พิการคนหนึ่งที่เรียนดีแต่เมื่อออกไปทำงานเด็กไม่ได้ทำงานตามศักยภาพที่ตนเองมีเนื่องจากเป็นผู้พิการจึงให้ทำงานที่ต่ำกว่าเกณฑ์ความสามารถที่เด็กมี ซึ่งปัจจุบันมี ผู้พิการจำนวนมากที่มีศักยภาพแต่ขาดโอกาสในการทำงานที่เหมาะสมตามความสามารถที่ตนเองมี โครงการนี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่ ผู้พิการในการดำรงชีวิตในสังคม มีอาชีพและมีงานทำ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ โดยแบบทดสอบตัวนี้จะใช้กับผู้พิการ ทุกกลุ่มเป้าหมายและเป็นรายบุคคล นอกจากครูแล้ว ผู้พิการเองก็ใช้ได้ ส่วนผู้พิการซ้ำซ้อนที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือด้วยตนเองก็จะใช้วิธีการประเมินโดยการสัมภาษณ์ผ่านระบบซึ่งระบบจะให้ข้อมูลว่าควรสัมภาษณ์อย่างไรที่จะบ่งชี้สมรรถนะได้ และอีกวิธีคือการสังเกต ซึ่งจะทำให้ผลของสมรรถนะที่ออกมามีความแม่นยำมากขึ้น ผู้พิการก็จะมีกราฟสมรรถนะของตนเอง เด็กอยากจะไปเรียนต่อด้านใดระบบก็จะเอาข้อมูลสมรรถนะมาแมชกับสิ่งที่เรียนและพัฒนาตนเองไปทางด้านนั้น ส่วนครูได้รู้สมรรถนะของเด็กเป็นรายบุคคลนำไปสร้างแผนการเรียนรู้ ทำให้เด็กมีโรดแมปในการเรียนการวางแผนการทำงานในอนาคต ขั้นตอนที่สอง เมื่อเด็กจะเข้าสู่ระบบแรงงาน ระบบจะจ็อบแมชชิ่งกับผู้ประกอบการซึ่ง ตอนนี้เราทำความร่วมมือกับสถานประกอบการกว่า 1,700 บริษัทที่จะรับผู้พิการเข้าทำงานโดยใช้ข้อมูลสมรรถนะของผู้พิการที่อยู่ในระบบเป็นเกณฑ์พิจารณา และสุดท้ายคือ ภาครัฐสามารถพัฒนาผู้พิการได้ตรงจุด ใช้ งบประมาณอย่างคุ้มค่าซึ่งตอบโจทย์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต
“แบบทดสอบสมรรถนะตัวนี้จะเปิดให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ เมื่อผู้พิการลงทะเบียนใช้งานระบบทำการวิเคราะห์ศักยภาพเบื้องต้น จากนั้นจะส่งชุดข้อสอบที่เหมาะสมให้ทำการทดสอบและประมวลผลซึ่งสามารถบ่งชี้สมรรถนะของผู้พิการในเบื้องต้นได้ชัดเจนว่าสมรรถนะที่ผู้พิการมีตรงกับที่ครูหรือภาครัฐคาดหวังมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะมีชุดข้อมูลที่เรียกว่า individualized development plan ที่จะบอกว่าเขาต้องพัฒนาอะไรบ้างเพิ่มเติม และสมรรถนะของผู้พิการโดยภาพรวมทั้งประเทศที่จะบอกว่าผู้พิการ ทั้งระบบที่ขึ้นทะเบียนไว้ 1.6 ล้านคนได้รับการประเมินไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลสมรรถนะ ผู้พิการแต่ละด้านจะเป็นข้อมูลให้ภาครัฐนำไปใช้ในการพัฒนาผู้พิการของประเทศ ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเปิดให้บริการฟรี สามารถใช้บริการผ่านระบบมือถือ หรือเข้าไปใช้บริการตามหน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้พิการ เช่น มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เป็นต้น” อาจารย์พลวัฒน์ กล่าว