คอลัมน์ รอบรั้วการศึกษา: ‘ธัญบุรี’คิดค้นระบบสี-แสงทีวีถนอมสายตา

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ความอ่อนล้าทางสายตา ตาแห้งหรือปวดตา เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำงานจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอมือถือ หรือแม้แต่การดูโทรทัศน์ หรือทีวี และหากใช้ในพื้นที่มีแสงน้อยและปิดไฟด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ม่านตาขยายใหญ่กว่าปกติ เกิดความดันในลูกตาและเสี่ยงต่อโรคทางตา เช่น จอประสาทตาเสื่อมได้
ปัจจุบันทีวีมีระบบ Ambient light ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยถนอมสายตาเวลาปิดไฟดู โดยใช้ไฟ LED ด้านหลังจอเป็นแสงที่สะท้อนไปยังพื้นที่ด้านหลังเช่น กำแพง หรือผนังห้อง ซึ่งแสงนั้นจะใช้ตำแหน่งและสีที่สอดคล้องกับภาพที่แสดงบนหน้าจอทีวี จึงทำให้รู้สึกว่าสีของภาพที่แสดงนั้นขยายออกไปยังพื้นที่ด้านหลังด้วย …แสงที่สว่างขึ้นเล็กน้อยช่วยให้ดวงตาไม่ต้องเผชิญกับความต่างที่มากเกินไประหว่างแสงจอทีวีและความมืดด้านหลังจอ …ม่านตาก็ไม่ต้องทำงานในลักษณะเปิดปิดเร็วเกินไป เมื่อเราละสายตาจากทีวียังไปจุดอื่นๆ
แต่ทว่าสองนักศึกษา “นายธนกรสุธรรม” และ “น.ส.มัณฑนา จิตวิขาม”จากภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กลับคิดต่อยอดหาทางลดผลกระทบต่อดวงตาขณะที่ดูทีวี ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคิดค้นระบบทีวีแบบถนอมสายตา จนนำมาสู่การออกแบบและสร้างระบบให้แสงสว่างโดยรอบ สำหรับติดตั้งกับทีวี ด้วยหลอด TRI-COLOR LED ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณสีของภาพที่มุมจอทีวีที่แสดงทั้งสี่ด้าน และสั่งงานให้หลอด TRI-COLOR LED แสดงสีของแสงได้ใกล้เคียงกันกับภาพที่ออกมาจากจอทีวี ซึ่งทีวีจะแสดงสีออกมาที่ด้านหลังของจอ ทำให้เกิดความสว่างขึ้นที่กำแพง และทำให้ตาไม่รู้สึกว่าแสงจากจอทีวีสว่างมากเกินไป
นายธนกร สุธรรม อธิบายถึงระบบให้แสงสว่างโดยรอบบนจอทีวีโดยใช้LED ชนิดสามสี ใช้โปรแกรม Bambi light เป็นตัวตรวจจับภาพและแสงสีจากหน้าจอทีวี และใช้โปรแกรม Arduino ออกแบบและสร้างระบบให้แสงสว่างโดยรอบ สำหรับติดตั้งกับทีวีด้วย TRI-COLOR LED และใช้รูปแบบการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ในการแสดงผลภาพออกมา ซึ่งผลการทดสอบประสิทธิภาพ พบว่าระบบสามารถส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ไปยังบอร์ด Arduino ได้และสั่งการให้หลอด LED WS2811 strip แสดงสีได้ตามต้องการ ส่วนการทดสอบในระบบ Bambilight เมื่อทำการตรวจจับสีตามช่วงที่กำหนดไว้ สามารถจับสีได้ และควบคุมการตรวจจับสีของภาพที่มุมจอทีวี ที่แสดงทั้งสี่ด้านได้ดีเช่นกัน
…นักศึกษาทั้งสอง มองว่าระบบให้แสงสว่างโดยรอบบนจอทีวีโดยใช้ LED ชนิดสามสีที่คิดค้นนี้หากผู้ผลิตจะนำไปต่อยอดในผลิตภัณฑ์ ก็จะช่วยถนอมสายตาและเพิ่มอรรถรสการรับชมยิ่งขึ้น สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่อาจารย์บุญฤทธิ์ คุ้มเขต ที่ปรึกษางานวิจัยดังกล่าวโทร.09-8998-5619งานวจัยดีต้องนำไปใช้จริง

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]