
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2560
รัชดาภิเษก * รฟท.กางแผนเร่งจัดซื้อรถจักรดีเซลจำนวน 186 คัน หวังเพิ่มรายได้เดินรถปีละ 5.4 พันล้าน ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ 100% พร้อมเร่งพัฒนาบุคลากรด้านระบบขนส่งทางราง คาดอีก 5 ปี ต้องการถึง 3 หมื่นคน คาดภายใน 60 ชง ครม.ตั้งกรมราง
นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยในงาน โครงการพัฒนาเครือข่ายสถาบันวิชาการระบบขนส่งทางราง ว่า สำหรับแผนการลงทุนระยะ 8 ปี (2561-2568) เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟใหม่นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่รวม 16 เส้นทาง ระยะทางรวม 3,169 กิโลเมตร ควบคู่ไปกับแผนจัดซื้อรถไฟดีเซลจำนวน 186 คัน และหัวรถจักรเพิ่มขึ้น 75% จำนวน 100 คัน รวม 396 คัน ภายในปี2563 จากเดิมที่มี 130 คัน
ทั้งนี้ หากสามารถเดินไปได้ตามเป้า คาดภายในปี 2568 จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับ รฟท.ไม่ต่ำกว่า 5,453 ล้านบาท พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งผู้โดยสารขึ้นเป็น 6 ล้านคน ต่อปี และสินค้า 20.9 ล้านตันต่อปี
“กระทรวงคมนาคมมีนโยบายต้องการส่งเสริมให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้ระบบรางมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 1.42% เพื่อแก้ปัญหาโลจิสติกส์ของประเทศ และลดต้นทุนขนส่ง 100% จากปัจจุบัน 2.12 บาทต่อตันต่อกิโลเมตรทางระบบถนน ให้เหลือเพียง 0.95 บาทต่อตันต่อกิโลเมตรบนระบบราง คาดภายในปี 65 ระบบรางของไทยจะพร้อมสำหรับเป้าหมายดังกล่าว” นายพิชิตกล่าว
นายพิชิตกล่าวว่า เพื่อยกระดับมาตรฐานของบุคลากรด้านราง และรองรับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ทางกระทรวงคมนาคมได้มีการหารือกับจีนในการร่วมถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งจะมีความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทร่วมกับ รฟท. เพื่อเป็นผู้รับองค์ความรู้ทั้งด้านการเดินรถ (Operation) และการซ่อมบำรุง (Maintenance) เพื่อให้องค์ความรู้ในเรื่องรถไฟความเร็วสูงอยู่คู่ รฟท.แบบยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการประเมินในอีก 5 ปี ประเทศไทยจะมีความต้องการบุคลากรในระบบรางจำ นวน 3 หมื่นคน ทั้งบุคลากรระดับสูง กลาง ระดับปฏิบัติงาน รองรับองค์ความรู้ เทคโนโลยี ด้านตัวรถ ด้านระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบล้อเลื่อน ระบบขับเคลื่อน ระบบควบคุมการเดินรถ ปัจจุบันโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟสามารถผลิตบุคลากรได้ประมาณ 300 คน/ปี ส่วนสถาบันการศึกษาระดับปริญญาเอกมีหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยมหิดล, ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ, ปริญญาตรีมี 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี), ลาดกระบัง, เกษตร, หอการค้า, รังสิต
นายพิชิตกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกรมรางเพื่อกำกับดูแลกิจการรถไฟและวางกรอบมาตรฐานอุตสาหกรรมทางราง ว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมควบคู่ไปกับรายละเอียดด้านร่างพระราช บัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ….. คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อส่งให้กระ ทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายใน 1 เดือน ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งภายในไตร มาส 4 ของปีนี้เพื่อเดินหน้าจัดตั้งกรมรางต่อไป.