มทร.ธัญบุรี-สิงคโปร์หลอมความรู้ตอบโจทย์ชุมชน

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560
กรุงเทพธุรกิจ มทร.ธัญบุรีจับมือ โพลีเทคนิคสิงคโปร์จัดทำโครงการ “เลิร์นนิง เอกซ์เพรส” ส่งนักศึกษาสองสถาบันเข้าพื้นที่สำรวจความต้องการหรือปัญหาในชุมชน จากนั้นใช้ความถนัดตามสาขา วิชาเอกสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์เพื่อชุมชน ล่าสุดกับผลงานเครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพในชุมชนโคกขาม จ.สมุทรสาคร
“เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ” ผลงานจากโครงการ Learning Express โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กับ Singapore Polytechnic (SP) สิงคโปร์ มุ่งสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักศึกษาและบุคลากรทั้งสองสถาบัน ด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนด้วยความถนัดตามสาขาวิชาเอกของตนเอง
ผศ.ศิริชัย ต่อสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า “เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ” เกิดจากการลงพื้นที่ที่นำนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน เข้าศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำงานและวิถีชีวิตของเกษตรกร ณ โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา ชุมชนโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ชาวชุมชนต้องการกระบวนการทำปุ๋ยชีวภาพจากขี้แดดนาเกลือให้สะดวกรวดเร็วและได้ปริมาณมาก
ที่ผ่านมาชาวบ้านใช้วิธีการผสมปุ๋ยด้วยมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร ทำให้ใช้แรงงานและเวลาอย่างมาก ทั้งยังมีการผลิตน้อย จากปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การร่วมกันแก้ปัญหา คิดค้นและออกแบบเครื่องผลิต ปุ๋ยชีวภาพตัวต้นแบบ ที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านชุมชนโคกขาม จากนั้น กลุ่มนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ต่อยอดการออกแบบโดยสร้างเครื่องผลิตปุ๋ยจริงขึ้นมา
ผลงานเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพสามารถผสมปุ๋ยจากขี้แดดนาเกลือได้ในปริมาณมาก ทั้งยังทำให้ส่วนผสมต่างๆ เข้ากันได้เป็นอย่างดี ช่วยลดระยะเวลาและเป็นเครื่องทุ่นแรงให้แก่เกษตรกรอีกด้วย การทำงานของเครื่องจะใช้มอเตอร์ 3 แรงม้า เป็นเครื่องต้นกำลังเพื่อไปขับชุดเกียร์ทดเพื่อส่งกำลังไปยังใบกวน
เครื่องสามารถผสมปุ๋ยจากขี้แดด นาเกลือได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม รวมมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 กิโลกรัมต่อวัน สามารถลดคนงานผสมปุ๋ยชีวภาพได้ถึง 2 คน และเพิ่มปริมาณการผลิตได้ 130 กิโลกรัมต่อวัน
โครงการฯ จึงตอบโจทย์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นักศึกษาของทั้งสองสถาบันการพัฒนาตนเองในการสื่อสารจนเกิดความเข้าใจ ประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชนพัฒนาทักษะการคิด การทำงานเป็นทีม สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนด้วยวิชาชีพของตนเอง
ด้าน รศ.ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวว่า โครงการความร่วมมือ 2 สถาบันนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 5 รุ่น ดำเนินกิจกรรมเป็นทีมสหวิชาการในการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน ผ่านกระบวนการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่จะฝึกให้นักศึกษาช่วยแก้ปัญหาในชุมชนต่างๆ ผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์และคิดร่วมกับชุมชน ภายใต้การดูแลและแนะนำของ Facilitator ประจำแต่ละกลุ่ม
ทั้งนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจะผ่านการคัดเลือกโดยอาจารย์ของทั้งสองสถาบัน โดยโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ รุ่นที่ 1 มีบุคลากรจากทั้งสองสถาบันเข้าร่วม 70 คน สถานที่ดำเนินงาน ได้แก่ มทร.ธัญบุรี, ชุมชนหมู่ 3 ต. บึงชำอ้อ อ.หนองเสือ และชุมชนบ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
โครงการรุ่นที่ 2 เข้าร่วมทั้งหมด 60 คน ซึ่งในครั้งนี้นักศึกษา มทร.ธัญบุรี 10 คน จะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการที่สิงคโปร์ด้วย ส่วนสถานที่ดำเนินกิจกรรมได้แก่ สิงคโปร์และชุมชนโคกขาม จ.สมุทรสาคร เพิ่มเติมจากชุมชนทั้งสามแห่งในโครงการแรก
สำหรับโครงการในปีถัดไป ทาง Singapore Polytechnic จะเชิญนักศึกษาของไทยไปร่วมกิจกรรมยังต่างประเทศ ตามที่ได้บันทึกความร่วมมือไว้ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสำหรับโครงการเลิร์นนิงเอกซ์เพรสของ มทร.ธัญบุรีในปีต่อไป ทางมหาวิทยาลัยคานาซาว่าที่ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมโครงการด้วย
อีวาน เอล เวน หยาง นักศึกษาจากสิงคโปร์ในโครงการ Learning Express กล่าวว่า จากนอกจากประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนคนไทย ยังมีความรู้ในส่วนของสมุนไพรไทย การปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ นำสมุนไพรไทยที่มีในท้องถิ่นมาทำเป็นยารักษาอาการต่างๆ เช่น รางจืด ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ช่วยล้างสารพิษในร่างกาย อีกทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการทำครีมกันยุง ยาหม่องน้ำนวด ซึ่งยาเหล่านี้ตนเองไม่เคยรู้กรรมวิธีการผลิต

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]