ศธ.ถก10อุตสาหกรรมเคาะหลักสูตรพันธุ์ใหม่ มทร.ธัญบุรีเตรียมยื่นสมัครเปิด”หลักสูตรพันธุ์ใหม่”ก.พ.นี้ ย้ำตอบโจทย์กลุ่มอุตสาหกรรมประเทศ

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรุงเทพธุรกิจ มทร.ธัญบุรีเตรียมยื่นสมัครเปิด”หลักสูตรพันธุ์ใหม่”ก.พ.นี้  ย้ำตอบโจทย์กลุ่มอุตสาหกรรมประเทศ   “อุดม”เตรียมหารือ 10 ภาคอุตสาหกรรม พิจารณาหลักสูตรร่วมกัน สัปดาห์หน้า  ชี้มหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชนต่างยื่นสมัครร่วมโครงการได้ คาดหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ทันเปิดรับนิสิตนักศึกษา ส.ค.61  ด้านจุฬาลาดกระบังเรียนร่วม2 ปริญญา”วิศวะหุ่นยนต์”
ภายหลังที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มหาวิทยาลัยพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ  5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
ส่วนอีก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4. อุตสาหกรรมดิจิทัล 5. อุตสาหกรรมการแพทย์ ครบวงจร ซึ่งนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนสามารถยื่นหลักสูตรสมัครเข้าร่วมหลักสูตรพันธ์ใหม่ในเดือนก.พ.นี้
 นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่ามทร.ธัญบุรี ได้เตรียมความพร้อมที่จะยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการในเดือนก.พ.นี้เป้าหมายคือการต่อยอดศักยภาพผู้เรียนอาชีวศึกษา ที่จบการศึกษา ระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้เข้าเรียนต่อเนื่องในระดับปริญญาตรี ประกอบด้วย 6 สาขา อาทิ 1. แมคคาทรอนิกส์ 2.ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
          3.คอมพิวเตอร์4.นวัตกรรมสุขภาพ ของวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย 5.สมาร์ทฟาร์ม และ 6.โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาครู ได้แก่ การพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบเยอรมัน ที่มุ่งเน้นการผลิตครูช่าง ซึ่งที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรี ได้ส่งอาจารย์ไปอบรม หรือที่เรียกว่า ไมเซอร์ ที่ประเทศเยอรมนีและสอบไลเซ่นส์มาตรฐานเยอรมันและการพัฒนาครูรูปแบบฟินแลนด์โมเดล
          ทั้งนี้แต่ละหลักสูตรตอบโจทย์เป้าหมายการผลิตและพัฒนากำลังคนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี  4.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
          “ทุกหลักสูตรจะเน้นที่การต่อยอดผู้เรียนที่จบอาชีวะ ให้ได้รับการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในสายอาชีพเฉพาะด้าน จะใช้เวลาเรียน 2 ปี และจะรับสมัครนักศึกษาด้วยวิธีการรับตรง ส่วนค่าธรรมเนียมการศึกษาก็เป็นไปตามปกติ อยากเสนอว่าให้ทำโครงการนี้เป็นระยะยาวเพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่จะช่วยพัฒนาประเทศ เชื่อว่าในระยะต่อไปมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มมทร.ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ และมีความพร้อมก็จะได้เตรียมการยื่นสมัครเข้าร่วมด้วยแน่นอน”นายประเสริฐ กล่าว
ศธ.ถก10อุตสาหกรรมสัปดาห์หน้า
นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยที่จะเปิดหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ต้องมีพื้นฐาน มีคณาจารย์ที่รองรับ หลักสูตรทั้งหมด ต้องมีมาตรฐาน มีคุณภาพ สกอ.รับปากที่จะเร่งดูในเรื่องของมาตรฐานหลักสูตรต่าง ๆ ตลอดจนประสานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)เพื่อพิจารณาค่าเงินเดือน ขณะที่สภาพัฒน์จะเข้ามาช่วยเสนอแนะความต้องการในการผลิตบัณฑิตด้านต่างๆ
รวมถึงในสัปดาห์หน้า จะเชิญ 10 ภาคอุตสาหกรรม เข้ามาให้ข้อเสนอแนะต่างๆในการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ด้วย เพื่อจะได้บัณฑิตที่ตรงกับความต้องการ ตลาดแรงงานจริง ๆ ซึ่งเท่าที่ดูน่าจะสามารถดำเนินการได้ทันเดือนส.ค.2561 ตามที่นายกรัฐมนตรี ต้องการอย่างแน่นอน
เน้นหลักสูตรบูรณาการเรียนไม่เกิน 2 ปี
ทั้งนี้ การผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ระยะแรกจะเป็นหลักสูตรบูรณาการ เรียนไม่เกิน 2 ปี แต่ต้องเป็นบูรณาการจริงๆ เช่น เรียนแพทย์ 2 ปี และ เรียน วิศวกรรมฯ 2 ปี จบออกมาอาจจะทำงานทางด้านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเปิดรับนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 หรือปีสุดท้าย จบออกมาได้จะได้ปริญญาตรี  รวมถึง ผู้ที่มีงานทำแล้ว เพื่อมาต่อยอดทางด้านวิชาการ และพัฒนาทักษะชั้นสูงในการปฏิบัติงาน เช่น พวกจบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)
นอกจากนี้เน้นหลักสูตรอบรม 3-6 หลักสูตร จบออกมาได้ประกาศนียบัตร ซึ่งจะออกไปทำงานเพื่อพัฒนาประเทศได้ทันที แต่หากมหาวิทยาลัยไหนจะเปิดหลักสูตร 4 ปีก็ได้  หลักสูตรพันธุ์ใหม่จะทำให้มหาวิทยาลัยโฟกัสผลิตบัณฑิตตามศักยภาพ ความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่งและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยที่ผ่านการพิจารณา จะได้รับงบสนับสนุนงบประมาณพิเศษให้จนกว่ามหาวิทยาลัยจะตั้งตัวได้ และจะต้องดำเนินการจัดทำหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายใน 6-8 อาทิตย์ เพื่อเปิดรับนักศึกษาได้ทันที
จุฬาฯ-สจล.ผลิตวิศวะหุ่นยนต์ป.ตรี2ปริญญา
ขณะที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ซีเอ็มแคแอล (CMKL) ได้ลงนามความร่วมมือ ทางวิชาการจัดตั้ง 2 หลักสูตรปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรปริญญาตรี สองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากจุฬาฯ และจากสจล.และม.CMKL จะเปิด หลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ เป็นหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก 2 หลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินการ พัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีศักยภาพแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ ความร่วมมือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน คณาจารย์ ดึงจุดเด่นของแต่ละที่มาร่วมเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกัน ตลอดจน ส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ ส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการ แก่ สังคม ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะรับนักเรียน ม. 6 ที่มีความรู้ความสามารถ และสนใจงานด้านนี้
โดยจะเปิดรับโดยพิจารณาจากพอร์ตฟอริโอ ซึ่งเด็กที่ได้เหรียญจากการแข่งขันระดับโลก เช่น โอลิมปิกวิชาการเมื่อหลักสูตรเรียบร้อยผ่านการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบ จะเปิดรับสมัครนักเรียนทันที หลักสูตรนี้นั้นถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)แล้วจะเปิดเรียนได้ทันเดือน ส.ค.2561

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]