นิวซีแลนด์จับมือเครือ’มทร.’ ติดอาวุธปัญญา…สู้ภัย’ไซเบอร์’

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2561

เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอยู่บนวิถีออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมการเงิน การช้อปปิ้ง การสร้างโลกเสมือนจริงจากเกม VR หรือแม้แต่การสะสมเงินสกุลดิจิทัล (Bitcoin) การจารกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์จึงมีให้เห็นมากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นการมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี จึงมีความสำคัญสำหรับโลกอนาคต
นิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีระบบการศึกษาที่โดดเด่นและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการเตรียมความพร้อมและวางพื้นฐานให้เด็กนักเรียนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงพร้อมสู่การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลและเศรษฐกิจโลกในอนาคต จากผลสำรวจฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ ของนิตยสาร “ดิ อีโคโนมิสต์” ปี 2017
กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำโดย มทร.พระนคร จึงได้ร่วมกับหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย และบริษัท Knowledge plus education services ตัวแทนที่ปรึกษาด้านการศึกษาต่อประเทศนิวซีแลนด์ จึงได้จัดเวิร์กช็อปให้กับคณาจารย์และนักศึกษาของกลุ่ม มทร.ในหัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิทัลกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศไทยและสถาบันการศึกษาของนิวซีแลนด์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษาตามนโยบายของประเทศไทย และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับสังคมและเศรษฐกิจในยุค Digital 4.0 โดยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากสถาบันการศึกษา WINTEC ประเทศนิวซีแลนด์ ณ มทร.พระนคร เมื่อเร็วๆ นี้
Monjur Ahmed ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสารโทรคมนาคม ศูนย์ข้อมูลธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันการศึกษา Waikato Institute of Technology (WINTEC) เปิดเผยว่า เราสูญเสียเงินมากกว่า 6 พันล้านเหรียญต่อปี ไปกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ ที่ก้าวหน้าไปอย่างมากในปัจจุบัน ส่งผลให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพิ่มขึ้น การขโมยข้อมูลบัญชีธนาคารหรือธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ เป็นปัญหาที่กระทบทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การจะจับแฮกเกอร์ได้ เราต้องรู้จักวิถีของแฮกเกอร์ก่อน” ฉะนั้น การสอนให้นักศึกษารู้จักระบบต่างๆ ในระบบไซเบอร์ รวมไปถึงระบบความปลอดภัย จะช่วยให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญ และสามารถตรวจสอบ หรือตรวจจับกลุ่มผู้ก่อการร้ายทางไซเบอร์ไม่ให้เข้ามาขโมยข้อมูลสำคัญต่างๆ ได้ สามารถลดอาชญากรทางไซเบอร์ไปได้มากเมื่อทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ และจะสามารถรองรับอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลได้อีกด้วย
“การอบรมครั้งนี้ ผมและนักศึกษาได้ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่รวมไปถึงกฎหมายคอมพิวเตอร์ นิติกรรมทางคอมพิวเตอร์ ให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ การรวบรวมหลักฐานสำหรับสืบสวนหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางไซเบอร์ การตรวจสอบระบบปฏิบัติการของดิสก์อิมเมจ และการกู้ไฟล์ที่เสียหายไปแล้ว สำหรับตรวจสอบฮาร์ดไดรฟ์และ สมาร์ทโฟน” Monjur กล่าวด้วยสถาบัน WINTEC มีนโยบายสร้างชุมชนให้เข้มแข็งด้วยการศึกษาวิจัยและพัฒนาอาชีพ จึงมุ่งหวังว่านักศึกษาจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะช่วยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนสามารถพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.วรัญญา เสาวคนธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มทร.พระนคร เล่าว่า การเข้าอบรมในครั้งนี้ ทำให้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น เนื่องจากมีครูจากต่างประเทศมาสอน ทำให้เราเรียนรู้วิธีการที่หลากหลายมากขึ้น ได้เห็นว่ามีวิธีการขโมยข้อมูล และการป้องกันข้อมูลในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายังมีหน่วยงานอีกมากมายที่ต้องการคนทำงานด้านนี้ เนื่องจากเทคโนโลยียังก้าวไปอีกไกลซึ่งการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จะทำให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญในเรื่องที่กำลังเรียนอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน น.ส.วราภรณ์ ทับทิม นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มทร.พระนคร บอกว่า การได้มาอบรมครั้งนี้ เป็นอะไรที่ดีมาก ได้ว่าใครที่เข้ามาแอบดูข้อมูลของเราอยู่ และเราจะมีวิธีในการจับอาชญากร ได้อย่างไร เราสามารถใช้โปรแกรมอะไรในการตรวจสอบและสืบค้นข้อมูล โดยอาจารย์ได้เน้นให้เราได้เห็นว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเรามีความเสี่ยงแค่ไหน การใช้สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ทำงานอยู่ สามารถถูกจารกรรมได้ทุกเมื่อ
นายเกียรติเกรียงไกร บุญเพ็ง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มทร.ธัญบุรี เล่าว่า พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของการตรวจจับและตรวจสอบผู้กระทำผิด ในระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ว่าเกิดจากบุคคล หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ความรู้ด้านภาษาอังกฤษและการทำงานเป็นทีมนั้นสำคัญมาก เนื่องจากข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ และแฮกเกอร์ก็มีมากมายทั่วโลก หากเรามีความเข้าใจภาษาเป็นพื้นฐาน ก็จะทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างถูกต้องด้วย
ถ้านักศึกษาได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติทุกวัน สถาบันการศึกษาต่างๆ จะสามารถผลิตนักศึกษาที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศออกมาพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]