สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยด้านวัสดุและด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำทีมโดย อ.ดร.ประชุม คำพุฒ และว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร จึงได้ดำเนินงานวิจัย โครงการ “ทะเลไทยไร้ขยะ” เพิ่มมูลค่าด้วยการ “อัพไซคลิ่งขยะจากทะเลไทย” ให้เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ และถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน พื้นที่แถบชายทะเล
ขยะทะเลพลาสติก ทั้งพลาสติกที่รีไซเคิลได้ เช่น ขวดน้ำ และพลาสติกที่เป็นประเภทใช้ครั้งเดียวไม่นิยมนำมารีไซเคิล อาทิ ถุงพลาสติกหูหิ้ว แก้วน้ำพลาสติก ฉลากพลาสติกข้างขวด และหลอดดูดน้ำพลาสติก ขยะพลาสติกเหล่านี้เป็นปัญหาหลักของประเทศที่ทุกภาคส่วนทราบดีว่ามีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างท้าทาย
ดร.ประชุม บอกว่า ได้พัฒนา ผลิตภัณฑ์วัสดุปูพื้นจากขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว ต่อยอดสร้างมูลค่าทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม เนื่องจากเป็นการกำจัดขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลในระบบด้วยการเพิ่มมูลค่าเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการนำไปฝังกลบหรือเผาทิ้ง ในกระบวนการผลิตเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ขยะพลาสติกจากพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล ในการลงพื้นที่เก็บขยะของชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ทะเลไทย ตลอดจนขยะจากการจัดกิจกรรมของภาครัฐและภาคเอกชนนำไปแยกประเภท ทำความสะอาด และบดย่อย ผสมกับปูนและน้ำ แทนหินและทรายตามปริมาณที่เหมาะสม อัดเป็น กระเบื้องคอนกรีตปูพื้น และ บล็อกประสานปูพื้น
ดร.ประชุม กล่าวว่า วิธีการนี้มีข้อดีคือสามารถใช้พลาสติกทุกชนิดบดรวมกัน ทำให้ไม่เหลือตกค้าง หรือเป็นการใช้ขยะให้เหลือศูนย์ (Zero waste) นั่นเอง ทั้งนี้ได้ทดลองสูตรส่วนผสมที่เหมาะสมในการผลิต ส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และสามารถนำไปใช้งานได้จริง
สำหรับจุดเด่นของวัสดุก่อสร้างที่ทำจากขยะทะเล คือ มีน้ำหนักเบา ลดการสะสมความร้อนได้ดีกว่าวัสดุประเภทเดียวกันที่จำหน่ายในท้องตลาด สามารถสร้างสรรค์ออกแบบรูปทรงรูปร่างที่สวยงามแตกต่าง ยกระดับงานทางด้านวัสดุตกแต่งทางสถาปัตยกรรม ทำสี ลวดลายผิวหน้า ตามความต้องการของผู้ใช้งาน สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายทั้งการก่อสร้างและการตกแต่ง การผลิตมีต้นทุนต่ำ จึงมีความคุ้มค่าในการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นทางเลือกใหม่ของวัสดุก่อสร้าง
ด้าน ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร บอกว่า การเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกครั้งนี้นอกจากเป็นโจทย์วิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แล้ว ยังเป็นโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เช่นกัน จึงได้นำขยะพลาสติกชุมชนที่เหลือทิ้งก่อนลงสู่ทะเลจำพวกขวดพลาสติกสีที่โรงงานรีไซเคิลรับซื้อในราคาที่ถูกมากและบางโรงงานไม่รับซื้อ มาเพิ่มมูลค่าเป็นบล็อกปูพื้นสำหรับใช้งานในชุมชน โดยมีข้อที่พึงระวังคือการบดย่อยขยะพลาสติก ให้พลาสติกที่บดย่อยแล้วมีขนาดไม่น้อยกว่า 5 มม. เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาไมโครพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลในอนาคต หากบล็อกปูพื้นมีความเสียหายจากการใช้งานปกติทั่วไป
โดยผลงานนี้ยังการันตีด้วย รางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ โดย World Invention Intellectual Property Association ประเทศไต้หวัน จากการประกวดในงาน 30th INTERNATIONAL INVENTION INNOVATION & TECHNOLOGY EXHIBITION 2019 (ITEX’19) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย.