คอลัมน์ การศึกษาสู่เศรษฐกิจ: มทร.ธัญบุรี เพิ่มมูลค่า ‘ขยะทะเล’เป็น’วัสดุก่อสร้าง’

          หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นำทีม ดร.ประชุม คำพุฒ และ ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร นำขยะจากทะเลไทยมาเพิ่มมูลค่า (Up-cycling) เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ และถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน พื้นที่แถบชายทะเล
ดร.ประชุม คำพุฒ เล่าว่า ประเทศไทยมีขยะทะเลติดอันดับ 6 ของโลก ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ มทร.ธัญบุรี ดำเนินงานวิจัยโครงการ “ทะเลไทยไร้ขยะ” เพิ่มมูลค่าด้วยการอัพไซคลิ่งขยะจากทะเลไทย ซึ่งปีแรกมุ่งเน้นขยะทะเลประเภทขยะพลาสติก ทั้งพลาสติกที่รีไซเคิลได้ คือ ขวดน้ำพลาสติก และพลาสติกที่เป็นประเภทใช้ครั้งเดียวไม่นิยมนำรีไซเคิล ประกอบด้วย ถุงพลาสติกหูหิ้ว แก้วน้ำพลาสติก ฉลากพลาสติกข้างขวด และหลอดดูดน้ำพลาสติก

          การนำข้อดีของขยะพลาสติกที่มีความเบาและมีความเหนียว ไปใช้เป็นวัสดุทดแทนมวลรวมจำพวกหินทรายก่อสร้าง ในกระบวนการผลิตเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ขยะพลาสติกจากพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล และบดย่อยเป็นมวลรวมแทนที่มวลรวมปกติบางส่วนตามปริมาณที่เหมาะสม โดยเลือกกระบวนการทำปฏิกิริยาระหว่างปูนซีเมนต์กับน้ำเป็นสารเชื่อมประสานให้เกิดเป็นก้อนวัสดุแข็งแทนการเชื่อมประสานด้วยความร้อนจากการต้มหรือการหลอมละลายพลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดมลพิษต่อผู้ผลิตและผู้ใช้งาน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวิธีนี้ คือ กระเบื้องคอนกรีตปูพื้น และบล็อกประสานปูพื้น
ทั้งนี้ หากนำพลาสติกทุกชนิดมาบดย่อยรวมกันก็สามารถใช้งานได้เลย ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบของการผลิตกรรมวิธีนี้ เพราะสามารถใช้ขยะพลาสติกได้ทุกชนิดโดยไม่ต้องเหลือตกค้าง โดยหน่วยวิจัย มีการทดลองสำหรับเลือกสูตรที่เหมาะสมในการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และสามารถนำไปใช้งานได้จริง

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]