ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2565
ผลงานวิจัยเด่น..งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ65
SMEs.
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” เป็นปีที่ 17 เวทีระดับชาติ คัดสรรผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 700 ผลงาน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจสามารถเข้าชม และรับการถ่ายทอดเพื่อนำไปต่อยอดใช้ได้จริงต่อไป
“บัวฉลองขวัญ” วิจัยช่วยสร้างรายได้เกษตรกรลดนำการนำเข้าภาคอุตสาหกรรม
หนึ่งในผลงานวิจัยเด่น “บัวฉลองขวัญ” ผลงานความก้าวหน้าด้านงานวิจัยไทยที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และยังช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ เพราะผลิตได้เองภายในประเทศทำให้ราคาถูกลง ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศ
ดร.ไฉน น้อยแสง จากคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) หัวหน้าทีมวิจัยการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับบัวฉลองขวัญฯ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นโจทย์วิจัยที่มาจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และได้รับทุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยผู้ประกอบการต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจาก “บัว” ที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย จึงเลือก “บัวฉลองขวัญ” ซึ่งเป็น บัวที่ผสมพันธุ์โดยอาจารย์ ชัยพล ธรรมสุวรรณ นักพฤกษศาสตร์ชาวไทย เมื่อปี 2541 และปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมปลูกเพื่อตัดดอกขาย เพราะดอกมีขนาดใหญ่ กลีบซ้อน มีสีม่วงสด สามารถบานได้ทนและบานได้หลายครั้ง
จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของบัวฉลองขวัญ พบองค์ประกอบที่สำคัญคือ ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) คูมาริน (coumarins) ซาโปนิน (saponins) แทนนิน (tanins) เทอร์ปีนอยด์ (terpennoids) คาร์ดิแอคโกลโคไซด์ (cardiac glycosiders) และพบว่าบัวฉลองขวัญมี ปริมาณ ฟินอลิก รวมค่อนข้างสูง ซึ่งปริมาณฟินอลิกรวมดังกล่าวมีรายงาน พบว่าเป็น สารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง บัวฉลองขวัญจึงมีศักยภาพที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม
แต่เนื่องจากบัวในธรรมชาติจะมีพวกโลหะหนักปนเปื้อนจากการปลูก ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.ไฉน น้อยแสง จาก มทร.ธัญบุรี, ดร.เสาวณีย์ บัวโทน จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต และคุณ กรรณิการ์ ไวยศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาของกลุ่มบริษัท เอส เอส ยู พี ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางโอเรียนทอล ปริ้นเซส (Oriental Princess) จึงนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช (plant cell culture technology) มาใช้เพื่อเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์จากพืชที่อาศัยอยู่ในส่วนของเนื้อเยื่อหน่ออ่อนหรือรากอ่อน ในสภาวะที่ปลอดเชื้อในห้องทดลองจนเกิดเป็นเซลล์ที่เรียกว่า “แคลลัส (callus)” ที่สามารถนำไปสกัดสารสำคัญได้ทันที โดยไม่ต้องนำไปปลูกให้เป็นต้นและออกดอกก่อนถึงจะนำมาใช้ได้ จึงเป็นการลดระยะเวลาในการผลิตสารสำคัญ ลดโลหะหนักปนเปื้อน และสามารถผลิตเป็นจำนวนมากในเชิงอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงที่ทำให้เกิดเป็นแคลลัส ได้ดี โดยไม่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตเป็นลำต้นหรือออกรากอีกด้วย
สารสกัดบัวฉลองขวัญสร้างรายได้เกษตรกร
กิโลละ 10,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อได้สารสำคัญจากบัวฉลองขวัญ ได้มีการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีไมโคร/นาโนพาร์ทิเคิล ในการพัฒนารูปแบบการนำส่งสารสำคัญทางเครื่องสำอาง เพื่อควบคุมการปลดปล่อยสาร เพิ่มระยะการออกฤทธิ์ต่อผิวหนัง และเพิ่มความคงตัวของสารสกัดให้ออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบทางคลินิก ซึ่งประเมินจากอาสาสมัครแล้วพบว่ามีคุณสมบัติที่ดีขึ้น
“งานวิจัยนี้ได้มีการไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีการปลูกนาบัวอยู่แล้ว โดยส่งเสริมให้ปลูกนาบัวฉลองขวัญ หลังจากนั้นจะรับซื้อส่วนที่เป็นเหง้านำมาฟอกให้บริสุทธิ์ก่อนนำมาเลี้ยงในอาหารของพืช ปัจจุบันชุมชนตำบลคลองนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี สามารถสร้างรายได้จากการผลิตต้นพันธุ์บัวฉลองขวัญประมาณ 200 บาทต่อต้น ขณะที่ มทร.ธัญบุรี ซึ่งร่วมกับวิสาหกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญ และสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญ สามารถสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญ ในราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทางบริษัท เอส เอส ยู พี (ประเทศไทย) จำกัด จะรับซื้อสารสกัดเซลล์ต้นกำเนิดบัวฉลองขวัญประมาณ 10 กิโลกรัมต่อเดือน”
สำหรับผลตอบรับของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสเต็มเซลล์ของบัวฉลองขวัญ ซึ่งผลิตและจำหน่ายโดยบริษัท เอส เอส ยู พี (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้เครื่องหมายการค้า “โอเรียนทอล ปริ้นเซส” มียอดจำหน่ายในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ประมาณ 10,000 ชิ้น /เดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,000,000 บาท/เดือน
ผลงานวิจัยรับรางวัลการประกวดนวัตกรรม กรุงเจนีวา
ทีมวิจัยได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรในเรื่อง กรรมวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากบัวฉลองขวัญ เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสารสกัดจากบัวฉลองขวัญ ยังไม่มีปรากฏในฐานข้อมูลของกองควบคุมเครื่องสำอาง จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีการเอางานวิจัยไปรองรับสารสกัดจากบัวฉลองขวัญ เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเครื่องสำอางได้
ผลงานนี้เคยได้รับรางวัล Bronze Award จากงาน 47th International Exhibition of Inventions of Geneva และรางวัล Merit Award จาก International Strategic Technology Alliance ในการประกวดผลงานนวัตกรรม ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิต
ผู้สนใจสามารถชมผลงาน “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “บัวฉลองขวัญ” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย” รวมถึงผลงานวิจัยที่น่าสนใจกว่า 700 ผลงาน สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 02-579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นวัตกรรมผ้าทอไหมผสมฟางข้าว เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
นอกจากนี้ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ยังได้นำผลงานวิจัยเด่น “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” การสร้างองค์ความรู้แปลงฟางข้าวเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่ สู่ผืนผ้า อีกทั้งเกิดนวัตกรรมเครื่องจักรปั่นเส้นใยฟางผสมใยไหม เกิดนวัตกรช่วยพัฒนาอาชีพ ผู้ประกอบการ ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจช่วยสร้างงาน อาชีพแก่ประชาชน มีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ลดต้นทุนในการทอผ้าได้มากถึง 80%
อาจารย์รัตนเรขา อัจฉริยพิทักษ์ จากสาขาเทคโนโลยีสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ หัวหน้าทีมวิจัย พร้อมด้วย อาจารย์ลักขณา พิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาเครื่องจักรกลเกษตร และอาจารย์ รัตนจิรา รัตนประเสริฐ สาขาพืชศาสตร์ร่วม กล่าวว่า ผลงาน “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่เป็นสหวิทยาการบูรณาการหลายศาสตร์ โดยพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ภายใต้ทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)การวิจัยเริ่มในปี 2563 โดยลงพื้นที่ในชุมชน ต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ เพื่อช่วยพัฒนาต่อยอดจากอาชีพเดิมที่มีการทอผ้าไหมและมีสิ่งเหลือทิ้งเป็นเปลือกไหมจำนวนมาก
ด้านผู้ประกอบการผ้าไหมมัดหมี่ ผ้ายก ขายยาก เล่าว่า เนื่องจากในพื้นที่มีฟางข้าวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงคิดนำเศษใยไหมมาผสมฟางวัสดุเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่า โดยปีแรกคิดหาวิธีย่อยฟางข้าว ด้วยการพัฒนากระบวนการหมักเส้นใยด้วยเคมี ที่สามารถทำได้เร็วภายใน 3-5 วัน หลังจากนั้น ในปี 2564 ได้พัฒนากระบวนการย่อยเส้นใยด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากผลไม้มีฤทธิ์เปรี้ยวในท้องถิ่น ซึ่งพบว่าใช้เวลาหมักเส้นใยนานกว่าใช้เคมี คือ ประมาณ 3 เดือน แต่มีความปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 80%
นอกจากนี้อาจารย์ลักขณา พิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาเครื่องจักรกลเกษตร หนึ่งในทีมงานยังได้คิดค้นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ทุ่นแรง เป็นเครื่องปั่นเส้นใยฟางผสมใยรังไหม ทดแทนการใช้เครื่องหัตถกรรมแบบเดิม ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วและผลิตเส้นใยได้เพียงพอต่อการนำไปใช้ถักทอทำผ้าผืน โดยสามารถปั่นเส้นใยได้ยาว 1 เมตรต่อ 1 นาที ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น ผ้าทอเป็นผืน เสื้อผ้าสตรีและบุรุษ สูท แจ็คเก็ต เนคไท หน้ากากผ้า หมวก กระเป๋า ของที่ระลึก และนำไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์
ชมผลงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยไหมเหลือใช้ผสมเส้นใยฟางข้าว” และผลงานวิจันอื่นจากฝีมือนักวิจัยไทยกว่า 700 ผลงาน และเวทีประชุมที่น่าสนใจกว่า 150 เรื่อง ได้ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ.