ปธ.ทปอ.ชี้เรียนฟรีป.ตรีเป็นไปไม่ได้

มติชน ฉบับวันที่ 25 ส.ค. 2565
แจง’ของฟรี-ดี’ไม่มีในโลก-หวั่นกระทบคุณภาพ

ค้านยกหนี้กยศ.ห่วง’เสียวินัย-ระบบการเงินพัง’

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยกรณีศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ เสนอให้แก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. … ให้ผู้กู้ที่สำเร็จการศึกษาเกิน 2 ปี และยังคงมียอดกู้คงเหลือ ให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาล พร้อมเสนอให้ดันเพดานการเรียนฟรีครั้งใหญ่ ให้การเรียนฟรีเป็นสิทธิอีกครั้ง โดยขยายกรอบการเรียนฟรีไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ว่า กยศ.ชี้แจงแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการยกหนี้ ไม่เช่นนั้น ผู้กู้อาจเสียวินัยได้ คิดว่าคนที่เข้ามาเรียน และกู้ยืมเงินจาก กยศ.เมื่อเรียนจบแล้วออกไปทำงาน แต่ติดขัด หรือมีปัญหาด้านการเงิน ถ้ามาปรึกษา กยศ.เชื่อว่า กยศ.จะหาแนวทางช่วยเหลือต่อไปได้ ไม่ใช่เบี้ยวหนี้ หรือยกหนี้ให้ เพราะหากยกหนี้ กยศ.ให้ สังคมจะเกิดคำถามตามมาว่าทำไมไม่ยกหนี้อย่างอื่นให้บ้าง ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินพัง ประชาชนอาจเสียวินัยได้

นายบัณฑิตกล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอให้ดันเพดานการเรียนฟรีถึงระดับอุดมศึกษา หรือเรียนฟรีระดับปริญญาตรีนั้น คิดว่า เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะอาจกระทบกับคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนได้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมมุติต้นทุน 100% นิสิตต้องเสียค่าเล่าเรียน 20% ที่เหลืออีก 80% มาจากเงินอุดหนุนรัฐบาล เงินรายได้ที่มหาวิทยาลัยได้มา ทั้งจากการทำวิจัย และรายได้จากการเช่าที่ดิน ซึ่งจุฬาฯ จะนำเงินรายได้ส่วนนี้เข้ามาสนับสนุนการเรียนให้กับนิสิต

“อย่าลืมว่างบที่รัฐบาลอุดหนุนนั้น ไม่ใช่เพื่อค่าเล่าเรียนโดยตรง แต่สนับสนุนงบอื่นๆ ด้วย ผมมองว่าการเรียนฟรีถึงปริญญาตรี เป็นไปไม่ได้ ของฟรี และดี ไม่มีในโลก เมื่อไหร่ที่จะเอาของฟรี อาจจะได้ของไม่ดี นั่นคือโลกความเป็นจริง หากรัฐบาลมีนโยบายให้เรียนฟรี คำถามคือมหาวิทยาลัยจะอยู่ได้อย่างไร” นายบัณฑิตกล่าว

ด้านนายสมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศได้พัฒนา อย่างมาก จึงเป็นโอกาสที่ดี หากจะผลักดัน เรื่องการเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ครอบคลุมระดับมัธยมต้น หรือ ม.3 และระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ดังนั้น ก่อนที่จะผลักดันให้ปริญญาตรีได้เรียนฟรี ควรจะผลักดันเกิดการเรียนฟรีในระดับชั้นมัธยมปลาย หรือ ม.6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ก่อน

“เห็นด้วยที่จะให้เรียนฟรีมีถึงปริญญาตรี เพราะจะช่วยพัฒนาประเทศอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การเรียนฟรีถึงปริญญาตรี อาจกระทบคุณภาพการจัดการศึกษาได้ เพราะมหาวิทยาลัยจะไม่สามารถหารายได้ด้วยตนเอง รัฐบาลอาจสนับสนุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ หรือจัดทำระบบให้ดี คือต้องมีระบบที่จะทำให้เรียนฟรี แต่ต้องมีคุณภาพ แต่ถ้าเป็นการเรียนฟรีที่ไม่เน้นคุณภาพ ผมไม่เห็นด้วย ดังนั้น การเรียนฟรีต้องมีคุณภาพ ต้องได้กำลังคนที่มาพัฒนาประเทศ และได้คนที่มีสมรรถนะตามความต้องการของประเทศ” นายสมหมายกล่าว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]