คอลัมน์ เช็กอัพกายใจ: ปรับ ‘ท่านั่ง’ คลายปวดเมื่อยลดอาการออฟฟิศซินโดรม

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ต.ค. 2565
ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด เป็นอาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากลักษณะการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ โดยที่ร่างกายไม่ได้ผ่อนคลายหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นเวลานาน ๆ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่พบกับกลุ่มคนวัยทำงาน…

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากท่าทางอิริยาบถที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การนั่งหลังค่อม ระดับความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ไม่สมดุลกัน การนั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น ก้มคอมากเกินไป รวมไปถึงความเครียด ฯลฯโดยหากปล่อยให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นนานวันโดยไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง อาจลุกลามกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต

บางรายอาจมีอาการชาไปที่บริเวณแขนและมือจากที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับมาเป็นเวลานาน ออฟฟิศซินโดรม ส่วนใหญ่จะส่งผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร ระบบการมองเห็น การสังเกตตนเองและดูแลสุขภาพจะช่วยลดความเสี่ยง โดยส่วนหนึ่งนี้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งจากเอกสารการเสริมสร้างสุขภาพดีกับการทำงานอย่างมีความสุขด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีซึ่งให้ความรู้ ทั้งชวนสังเกตอาการออฟฟิศซินโดรม อีกภัยเงียบสุขภาพใกล้ตัว

ออฟฟิศซินโดรม ส่วนใหญ่จะแสดงอาการออกมาในลักษณะการปวดตึงกล้ามเนื้อของอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ คอ บ่า ไหล่ สะบัก ข้อมือ หลังส่วนบน หลังส่วนล่างและสะโพก ฯลฯ บางรายอาจมีอาการปวดลงไปถึงขาโดยอาการที่พบได้บ่อยมีทั้งปวดตึงที่คอและบ่า หากเป็นมากในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะได้ อาการปวดมักเป็นบริเวณกว้างไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดได้ จะเริ่มปวดเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงและทรมาน และบางครั้งอาจมีอาการร้าวไปยังบริเวณใกล้เคียง

ออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม จากที่กล่าวจากลักษณะการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสมนั่งในท่าทางเดิม ๆ เป็นเวลานานขาดการเคลื่อนไหว หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็งในท่าเดิม กล้ามเนื้อบางส่วนถูกยึดค้างทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อโดยพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนอกจากนี้อาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้อีกเช่น สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ ไม่เหมาะสม อย่างเช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ที่ใช้ งาน สูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างของร่างกาย หรือการก้มเป็นเวลานาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่ผิดแบบซ้ำ ๆ โดยเหล่านี้ควรปรับเปลี่ยนเพื่อจะได้ไม่เสี่ยงกับอาการออฟฟิศซิน โดรม

นอกจากการปรับเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างนั่งทำงาน การออกกำลังกาย เป็นประจำยังมีส่วนสำคัญโดยจะช่วยยืดอายุหมอนรองกระดูกให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไม่เสื่อมโดยง่าย แต่หากสงสัยว่ากำลังมีอาการปวดอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทควรต้องรีบพบแพทย์และตรวจสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคแทรก ซ้อนเรื้อรัง

การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอแล้วการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมก็มีความสำคัญ อย่างเช่น จอคอมพิวเตอร์อยู่แนวตรงกับหน้าและอยู่เหนือกว่าระดับสายตาเล็กน้อย โดยขอบบนของจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงกับระดับสายตา ในท่านั่งที่รู้สึกสบาย อีกทั้งจอคอมพิวเตอร์ตั้งห่างกับความยาวเท่ากับความยาวแขนซึ่งเป็นระยะที่สายตาอ่านได้สบาย

ขณะที่แป้นพิมพ์วางอยู่ในระดับศอกทำมุมเก้าสิบองศา เบาะของเก้าอี้ต่ำกว่าระดับเข่าและปรับให้มีช่องว่างระหว่างเก้าอี้กับด้านหลัง และปรับเก้าอี้ให้เท้า วางบนพื้นได้พอดีประมาณเก้าสิบองศา ปรับพนักพิงหลังของเก้าอี้ให้รับกับหลังส่วนล่าง แต่หากเก้าอี้ปรับไม่ได้ให้ใช้หมอนหนุนหลังแทนและ ในท่านั่ง ควรนั่งหลังตรง เอนไปด้านหลังเล็กน้อย ตัวตรงไม่แอ่นหรือก้ม โดยก้นแนบไปกับบริเวณมุมฉากของพนักและลงน้ำหนักที่กล้ามเนื้อทั้งสองข้างให้เท่ากัน ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ก่อเกิดการเจ็บป่วยกล้ามเนื้อ

ดูแลสุขภาพเพื่อหลีกไกลจากอาการออฟฟิศซินโดรม.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]