อว.เปิดตัวคลังหน่วยกิตแห่งชาติ

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19 ต.ค. 2565
พลิกโฉมเดินหน้าสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตนำร่อง4มหา’ลัยคาดไม่เกิน2ปีเข้าระบบทุกแห่ง

กรุงเทพฯ * อว.เปิดตัว “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ” พลิกโฉมเข้าสู่โหมดการศึกษาแบบใหม่ เรียนรู้ ตลอดชีวิต ไม่จำกัดต้องจบภายใน 4 ปี หรือไม่จบใน 8 ปีโดนรีไทร์ นำร่องก่อน 4 มหา’ลัย จุฬาฯ, มธ., มช.และ มทร.ธัญบุรี คาดอีก 1-2 ปี มหาวิทยาลัยทั้ง 150 แห่งจะเข้าร่วมทั้งหมด

ที่สยามพารากอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ SkillLane เปิดตัวโครงการนำร่องจัดทำคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (Nation credit Bank System : NCBS) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) พร้อมนำร่อง 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ มทร.ธัญบุรี

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวว่า จากการประกาศใช้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์ที่จะพัฒนากำลังคนให้เกิดความหลากหลาย จะไม่จำกัดการจบการศึกษาแบบเดิมคือ 4 ปี และห้ามเกิน 8 ปี ยกเกณฑ์กลางออกทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมายผ่านระบบการศึกษา และก่อเกิดคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (Nation Credit Bank System) เพื่อให้คนทุกวัยได้เข้าถึงการศึกษาพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่ต้องการ และไม่ได้มีการกำหนดช่วงอายุ โดยหลักการของการเก็บหน่วยกิตจะมีการนำเกรดมาเป็นตัวชี้วัด แต่จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ มหาวิทยาลัย, หน่วยงานผู้ให้บริการฝึกอบรม (Training Provider) ที่ได้รับการรับรองจาก อว. และจากการเทียบโอนประสบการณ์ โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เทียบเคียงหน่วยกิต นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถเลือกวิชาที่สนใจในการเก็บหน่วยกิตได้เอง ไม่มีกำหนดระยะเวลา วิชาที่เรียนไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงกัน เพราะสุดท้ายหน่วยกิตก็จะถูกสะสมไว้

“อย่างไรก็ตาม หน่วยกิตที่ผู้เรียนได้เก็บสะสมจะถูกเก็บไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ ทำให้ผู้เรียนสามารถเก็บสะสมไปได้ตลอดชีวิต และสามารถขอใบรับรองทักษะได้โดยตรงกับคลังหน่วยกิตฯ แต่หากต้องการเทียบหน่วยกิตสำหรับการขอปริญญาตรีหรือปริญญาโท ก็สามารถเบิกและนำไปเทียบกับหน่วยกิตตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ หรือจะไปเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิตกับมหาวิทยาลัยโดยตรงก็ได้เช่นกัน เพราะหน่วยกิตที่เรียนจะถูกบันทึกระบบของคลังมหาวิทยาลัย และส่งต่อมายังคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ทั้งนี้ หน่วยกิตที่จะได้รับของแต่ละวิชาที่เรียน หรือการเทียบเคียงหน่วยกิตจากประสบการณ์การทำงาน ต้องขึ้นอยู่กับระเบียบและกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนดด้วย” ศ.ดร.ศุภชัยกล่าว

ศ.ดร.ศุภชัยกล่าวอีกว่า คาดว่าภายในอีก 1- 2 ปีข้างหน้า ทุกมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนราวๆ 150 แห่ง จะเข้าสู่ระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าระบบทุกวิชา ซึ่งขณะนี้มีการนำมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ที่วางระบบโดย SkillLane เพื่อนำร่องให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือระบบของการทำงานของคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็มีแนวทางในการเก็บสะสมหน่วยกิตในลักษณะนี้ด้วย และยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้การเรียนหลักสูตรมาตรฐานยังมีอยู่ แต่ระบบนี้เปิดโอกาสในการพัฒนาทักษะของคนทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ เอื้อให้กับแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันทาง มธ.มีระบบการเรียนในระดับปริญญาโทออนไลน์ที่ทำร่วมกับ SkillLane อยู่แล้ว คือระบบ TUXSA ซึ่งมี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจ สาขา Business Innovation (M.B.A. Business Innovation) และหลักสูตรปริญญาโท Data Science for Digital Business Transformation (M.S. Digital Business Transformation) และในปีหน้าจะมีเพิ่มขึ้นมาอีกหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปริญญาโท Applied AI สามารถเชื่อมกับระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติได้ เพื่อเอื้อให้กับกลุ่มคนทุกวัยที่อยากเรียนรู้และพัฒนา ดังนั้นจำเป็นต้องเติมทักษะใหม่ ปรับทักษะเดิม เพื่อให้ตอบโจทย์โลกยุคปัจจุบัน

รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบหน่วยกิตแห่งชาติเป็น Ecosystem สำคัญที่จะขยายโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาในระบบ Formal Informal และ Non-Formal Education ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนความรู้ใหม่ๆ ผ่านหลากหลายแหล่งเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานจริง รวมถึงผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงที่ตอบสนองความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่บนฐานของ Demand Driven โดยการไม่ผูกขาดองค์ความรู้ ที่สำคัญคือ แม้ความรู้ของผู้เรียนจะมีที่มาหลากหลาย แต่ก็เป็นความรู้ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพราะได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยอีกขั้นหนึ่งแล้ว โดยให้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์และดุลยพินิจตามเจตนารมณ์ของกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ ที่ Decentralized ไปยังแต่ละสภามหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ยั่งยืน ทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่คือ หน่วยงานการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะให้บริการด้านวิชาการ มีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว และได้มีการเตรียมหลักสูตรมากกว่า 200 หลักสูตร ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้ามาเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งได้มีการดำเนินการทำมาสักระยะหนึ่ง และเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 และคาดว่าในอนาคตจะมีการเปิดหลักสูตรมากขึ้น เพื่อรองรับกับระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ และทำให้การเรียนในรูปแบบสะสมหน่วยกิตเป็นที่รับรู้และเข้าใจไปยังวงกว้างมากขึ้น

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ ONE RMUT ของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง เพื่อร่วมกันพลิกโฉมแนวทางการผลิตกำลังคนยุคใหม่ เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงและนวัตกรเพื่อพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว ปัจจุบันกลุ่ม ONE RMUT ตอนนี้มีการวางหลักสูตรในระบบราว 45 หลักสูตร สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและคนทั่วไปของคลังหน่วยกิตแห่งชาติ จะช่วยให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนไทยเกิดขึ้นได้จริงในวงกว้าง และไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในรั้วสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น คลังหน่วยกิตนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ความตั้งใจของมหาวิทยาลัยในการผลิตและพัฒนาคนผ่านระบบการเรียนการสอนแบบ Lifelong Learning สำเร็จได้จริง ในรูปแบบที่มีศักยภาพยิ่งกว่าเดิม

ทั้งนี้ บริษัท สกิลเลน เอดูเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการด้าน Online Learning Platform จะร่วมใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เข้ามาช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศของคลังหน่วยกิตแห่งชาติ โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อคลังหน่วยกิตของแต่ละสถาบันเข้าไว้ด้วยกัน.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]