มทร.ธัญบุรีคิดค้น ‘นวัตกรรมหมวกเดินป่า’ เปลี่ยนสี-เรืองแสง-กันฝน-กันเชื้อรา

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรีคิดค้นต้นแบบนวัตกรรมหมวกเดินป่า โดยประยุกต์ใช้คุณสมบัติการเปลี่ยนสีและการ เรืองแสงในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อเพิ่ม4 คุณสมบัติพิเศษแก่ผู้สวมใส่ ทั้งเรืองแสง-ตรวจจับอุณหภูมิ-กันฝน-กันเชื้อราและแบคทีเรีย

“หมวก” เป็นไอเท็มสำคัญที่ช่วยกันร้อน กันแดด กันฝนได้ในระดับหนึ่ง และใส่ในเชิงแฟชั่น ที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัยรวมถึงแคมป์ปิ้ง โดยทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประกอบด้วย นายภัทรพล วัชรประภาวดี นายกฤตติเกษมบุญคำ นายสราวุฒิ ศรีประเสริฐ และนายอะฟันดี่ กะโห้ทอง ได้ร่วมกันคิดค้นและต่อยอดจากหมวกเดินป่าเดิมที่มีขายทั่วไป เพิ่ม 4 คุณสมบัติพิเศษและเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมหมวกเดินป่า ซึ่งมีดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา และ ผศ.สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นายภัทรพล วัชรประภาวดี ตัวแทนในทีมเล่าว่าในรายวิชาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ตนและเพื่อนในทีมได้รับโจทย์ให้ร่วมกันคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งทอ จึงสนใจเรื่องราวของหมวกเดินป่าและอยากเพิ่มคุณค่าในเชิงใช้งาน จึงระดมสมองในลักษณะกระบวนการกลุ่มและปรึกษากับอาจารย์จนตกผลึกเป็นแนวคิดสำคัญซึ่งเลือกใช้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนสีและการเรืองแสงของสีในผลิตภัณฑ์สิ่งทอมาพัฒนา ตกแต่ง และเพิ่มฟังก์ชันของหมวกเดินป่าที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดให้มีคุณสมบัติพิเศษและน่าสนใจยิ่งขึ้น

“นวัตกรรมหมวกเดินป่าที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ มี 4 ฟังก์ชันการใช้งานด้วยกันคือ(1) สามารถเรืองแสงในที่มืด ด้วยการตกแต่งสารพิเศษที่เรียกว่า ฟอสฟอเรสเซนต์ซึ่งมีประโยชน์ในกิจกรรมในช่วงกลางคืนหากสวมใส่เป็นกลุ่ม/หมู่คณะ จะสามารถระบุความเป็นกลุ่มในเบื้องต้นได้ ช่วยป้องกันการพลัดหลง และเพิ่มการมองเห็นในที่มืด (2) ตรวจจับอุณหภูมิบริเวณโดยรอบศีรษะ ด้วยการตกแต่งสารพิเศษ คือ เทอร์โมโครมิก กรณีอยู่ในที่ร่มจะแจ้งกับผู้สวมใส่ว่ามีอุณหภูมิสูง โดยสังเกตได้จากการเปลี่ยนสีนั่นเอง (3) เพิ่มคุณสมบัติการสะท้อนน้ำบนตัวหมวกด้านนอก ด้วยการเคลือบสารสะท้อนน้ำ เพื่อป้องกันการเปียกของหมวกและป้องกันสิ่งสกปรก และ(4) เพิ่มคุณสมบัติการต้านแบคทีเรียบริเวณด้านในของหมวก เพื่อป้องกันแบคทีเรียและเชื้อราได้ ซึ่งช่วยขจัดกลิ่นอับเพื่อสุขอนามัยของผู้สวมใส่” นายภัทรพลอธิบาย

ด้าน ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวเสริมว่า การเพิ่มคุณสมบัติพิเศษของวัตถุที่สามารถเปลี่ยนสีได้และสามารถเรืองแสงได้ในที่มืดนั้นเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจในการเพิ่มฟังก์ชันให้กับหมวกเดินป่า ซึ่งนักศึกษาให้ความสนใจ สำหรับวัตถุเปลี่ยนสีเกิดจากการตกแต่งสารพิเศษที่เรียกว่าเทอร์โมโครมิก สารนี้มีการตกแต่งสีและสามารถเปลี่ยนสีได้

เมื่ออุณหภูมิของสารเปลี่ยนจากที่อุณหภูมิต่ำไปอุณหภูมิสูงจนถึงค่าอุณหภูมิที่ได้กำหนดการเปลี่ยนสีไว้ สารเทอร์โมโครมิกประเภทลูโคดาย จะเปลี่ยนสีจากสีปกติเป็นสีใสหรือไม่มีสีเมื่ออุณหภูมิสูงจนถึงจุดที่เซตการเปลี่ยนสีไว้ ส่วนวัตถุเรืองแสงเกิดจากการตกแต่งสารพิเศษที่เรียกว่าฟอสฟอเรสเซนซ์ ซึ่งวัตถุฟอสฟอเรสเซนซ์จะไม่เปล่งแสงทันทีหลังจากดูดซับแสงเข้ามา แต่จะค่อยๆ ปล่อยแสงออกมา นอกจากนี้ยังได้เพิ่มความพิเศษของหมวก ด้วยการเพิ่มคุณสมบัติการสะท้อนน้ำบนหมวกด้านนอกเพื่อป้องการเปียกของหมวกอีกทั้งเพิ่มคุณสมบัติการต้านทานแบคทีเรียเฉพาะด้านในของหมวกด้วย

ผลงานนวัตกรรมดังกล่าวนี้ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาต่อไปได้ โดยราคาจะสูงกว่าหมวกเดินป่าทั่วไปราว 70-80 บาท/ใบ (ขึ้นอยู่กับจำนวนการผลิต) ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ในโครงการยกระดับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่สากล (RMUTT Elevate Innovation & Invention Awards) กิจกรรมที่ 2 การประกวดผลงานวิจัยนวัตกรรม(The 11th Innovation Awards 2022) และการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับอุดม ศึกษา มทร.ธัญบุรี (The 10th RMUTT Young Talent Inventor Awards 2022) ด้วย ผู้สนใจต้นแบบผลิตภัณฑ์นี้ สามารถสอบถาม โทร.08-7426-4915

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]