เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2566
สุพจน์-รักพงษ์ กิตติวรเมธี
“บ้านหนองโกวิทย์” กลุ่มทอผ้าชุมชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยกี่กระตุกโบราณ ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยยึดการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างลงตัวของชาวบ้านในพื้นที่ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว จนเกิดเป็นกลุ่มชุมชนมีแต่ความรัก ความสามัคคี และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดรายได้ทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยเอกลักษณ์การทอที่โดดเด่นเฉพาะตัว จนแตกต่างจากพื้นที่อื่นชัดเจน กระทั่งได้พัฒนาการผลิตเส้นใยผ้า โดยการนำเอาเส้นใยจากใบอ้อยมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใย ก่อนนำมาถักทอ ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองคือ ผ้าจะมีความเย็นใส่สบาย บวกกับสีผ้าที่สกัดจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น 100% ไม่ใช้สีสังเคราะห์ จึงสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
น.ส.สุวรรณะ ประไพ ผู้ใหญ่บ้านหนองโกวิทย์ หมู่ 7 ต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว และประธานกลุ่มศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ กล่าวว่า กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านหนองโกวิทย์ ต้องการให้ได้งานที่มีคุณภาพออกไปสู่ลูกค้า ผ้าแต่ละชิ้นจะมีขั้นตอนที่ยากและใช้การย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งต่างจากผ้าทอโรงงานธรรมดาราคาเมตรละ 75 บาท แต่ผ้าทอมือที่มีการผสมใยอ้อย ราคาเมตรละ 200 บาท ราคาต่อผืนจะเพิ่มขึ้นจากผ้าปกติเท่าตัว ซึ่งใยอ้อยมีคุณสมบัติพิเศษคือ ทำให้ผ้าเย็น ซึ่งจะมีรูพรุน เมื่อนำไปตัดเสื้อผ้า หมวก จะทำให้เย็น และที่สำคัญคือ สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการเผาใบอ้อยของเกษตรกร ถือว่าเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ไปช่วยตรงนี้ได้ ซึ่งวิธีการทำคือ จะไปจัดหาใบอ้อยสดนำมาหมักครั้งละ 200 กก. เป็นเวลา 4 เดือน แบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี จากนั้นนำมาซักให้เป็นใยอ้อย
น.ส.สุวรรณะ กล่าวต่อว่า ภูมิปัญญานี้เป็นการนำมาประยุกต์รวมกับสิ่งที่ทางชุมชนเล็ก ๆ เห็นว่า ใบอ้อยมีใย และได้รับความอนุเคราะห์จากคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้กระบวนการทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการหมัก การซัก และนำกากใยใบอ้อยประมาณ 20% ไปปั่นผสมฝ้ายเป็นด้ายสำหรับทอผ้า โดยแกนด้ายสำหรับทอผ้า ทางชุมชนก็ใช้ปล้องของต้นเพกาแทนพลาสติก ปัจจุบันนี้ชาวบ้านสามารถทำได้เองทุกขั้นตอน ซึ่งจากภูมิปัญญาที่เราทอกันมา 20-30 ปี จึงได้นำใยจากใบอ้อยมาทอผ้าเมื่อประมาณ 2 ปี ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ และสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่สุดคือ เราได้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อน จากเดิมที่เกษตรกรจะตัดอ้อยมักจะใช้วิธีการเผาจึงไปนำใบอ้อยส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งก็เป็นการทอผ้าด้วยกี่โบราณ ทำด้วยมือ ซึ่งสังเกตจากลูกค้าที่มาซื้อสินค้าชุมชน แม้ว่าจะขายในราคาที่สูงกว่าผ้าปกติ 1 เท่าตัว แต่ลูกค้าก็ประทับใจ เมื่อบอกราคาไปลูกค้าจะไม่ต่อเลย ถ้าเปรียบเทียบกับสีเคมีส่วนใหญ่จะต่อรองราคาลงมา แต่ผ้าที่มาจากสีธรรมชาติและจากใยอ้อย ลูกค้าจะพอใจในราคาที่เราขาย
“ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านหนองโกวิทย์มีสมาชิกที่ทอผ้าทั้งหมด 28 ครัวเรือน ทำงานร่วมกับกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการไปนำใบอ้อยมา การแปรรูป มีเยาวชนลูกหลานบ้านหนองโกวิทย์เข้ามามีส่วนร่วมเยอะ ยิ่งในช่วงภาวะโควิด-19 มีเยาวชนที่กลับมาอยู่บ้าน ได้เข้ามาช่วยกลุ่ม นำความรู้ที่ได้มาจากโรงงานมาฝึกสอนแนวทางการแปรรูปเพิ่มเติมได้ ทำให้ปัจจุบัน การทำผ้าทอมือฯ สร้างรายได้เป็นอาชีพหลักให้กับชุมชนได้แล้วในปัจจุบัน จากเดิมที่ทำนาทำไร่ แต่ก่อนก็ทำกันแค่ทอผ้าออกใส่เป็นผืนแล้วนำไปขาย ตอนนี้มีการแปรรูปเป็นเสื้อผ้า หมวก ตุ๊กตา กระเป๋า เสื้อ และอีกหลายผลิตภัณฑ์ สามารถนำไปออกงานต่าง ๆ ได้” ผู้ใหญ่บ้านหนองโกวิทย์ หมู่ 7 กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ชุมชนนี้ สามารถติดต่อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ โทร. 08-1921-8791 (ผู้ใหญ่สุวรรณะ).