มทร.ธัญบุรี ทำด้วยมือ..ส่งมอบด้วยใจ ‘หมวก’ เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 ม.ค. 2566
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถานีวิทยุกระจายเสียง และกองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดโครงการ “ทำด้วยมือ ส่งมอบด้วยใจ หมวกมัดย้อมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ปี 2” จัดทำหมวกมัดย้อมส่งต่อให้กับผู้ป่วยมะเร็ง จำนวน 300 ใบ ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 2 โดยเมื่อปี 2562 ได้นำหมวกมัดย้อมไปมอบกับผู้ป่วยมะเร็งใน 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้ต้องหยุดโครงการไว้ก่อน ซึ่งผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษามะเร็งโดยเข้าสู่การทำเคมีบำบัด ผลจากการรักษาจะทำให้เกิดอาการข้างเคียง คือ ผมร่วง ดังนั้นการใส่วิกผมระหว่างการรักษามะเร็ง เป็นการหาวิธีการอำพราง และเป็นการกันศีรษะที่เกิดจากผลข้างเคียงของการทำเคมีบำบัด สามารถช่วยรักษาภาพลักษณ์ทางสุขภาพและสภาวะที่ปกติ แต่การใส่วิกผมนั้นอาจจะทำให้ร้อนเกินไป หรือใช้เวลานานในการจัดทรง การใส่หมวกจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย หมวกมัดย้อมทั้ง 300 ใบ เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปี ที่ 4 สาขาวิชาจิตรกรรมสากล ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชา “ออก แบบตกแต่งผ้าและการย้อมสี” อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ และ น้อง ๆ จิตอาสาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต เป็นการลงมือปฏิบัติโดยนำศาสตร์ที่ได้เรียนไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ เสริมสร้างจิตสำนึกในการมีจิตอาสาเพื่อการช่วยเหลือสังคม

พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผอ.ศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า หมวกมัดย้อมนำไปมอบให้คนไข้ที่มารักษาที่โรงพยาบาล เป็นโครงการที่ให้กำลังใจ และเป็นการเสริมภาพลักษณ์ให้กับคนไข้ คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นผู้ป่วยอันดับ 1 ที่เข้ามารับการรักษากับทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ รองลงมา มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และอื่น ๆ หมวกมัดย้อมมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยที่มาให้ยารักษาส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ในอนาคตทางโรงพยาบาลมีความร่วมมือกับทาง มทร.ธัญบุรี อย่างเช่น โครงการศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่คนไข้สามารถเข้าร่วมได้

“น้องคิว” นายสตยกร เหมาสา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาจิตรกรรมสากล เล่าว่า ได้มีโอกาสใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือเพื่อนที่ป่วยเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 2 ตอนนั้นเพื่อนค่อนข้างจิตตก คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือเพื่อน รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการกับทางคณะ ขั้นตอนในการทำหมวกมัดย้อมไม่ได้ยาก เพียงแค่มีเทคนิคนิด ๆ หน่อย ๆ และพยายามทำหมวกมัดย้อมให้มีสีสัน สดใส เมื่อผู้ป่วยสวมใส่ทำให้ดูสดชื่น สวยงาม

“น้องฟิลลี่” นายภูบดินทร์ รื่นอารมณ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ชั้นปีที่ 6 รร.สวนกุหลาบรังสิต เล่าว่า ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม อยาก ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ โดยได้ชวนเพื่อน ๆ ในห้องเรียนมาด้วย มีพื้นฐานทางการมัดย้อมมาก่อน เคยทำเสื้อ มัดย้อม การมัดย้อมหมวกคล้าย ๆ การทำเสื้อ “ตอนทำพวกผมมีความสุข คนรับหมวกต้องมีความสุขเหมือนกัน” อยากให้เพื่อน ๆ ลองทำกิจกรรมอาสาที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น สนุกและได้ช่วยเหลือด้วย

ขณะที่ นางชฎาภรณ์ มาดีประเสริฐ ผู้ปกครองจิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เล่าว่า เป็นโครงการที่ดีมาก มาเพื่อส่งลูกทำจิตอาสากับเพื่อน ๆ ถือโอกาสเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย เห็นถึงความตั้งใจของลูก ได้ทำเพื่อผู้อื่น หมวกมัดย้อมแต่ละใบมีลวดลายและสีที่แตกต่างกันออกไป หมวกมัดย้อมจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งได้.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]