‘อว.’เร่งยกเครื่องกฎหมาย’มรภ.-มทร.’

มติชน ฉบับวันที่ 20 ก.พ. 2566
ชูคอนเซ็ปต์คล่องตัวเหมือน’ม.นอกระบบ’

‘9มทร.’หนุนหวังยืดหยุ่น-แก้ปัญหาติดขัด

นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือการปรับแก้กฎหมายดังกล่าว โดยหลักการสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 รวมถึงให้การทำงานของ มรภ.และ มทร. เกิดความยืดหยุ่น เหมาะสมกับความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ออกนอกระบบไปแล้ว

โดยไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ของตนเอง ที่สำคัญคือ ต้องการแก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหมด ยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เพราะเพิ่งเริ่มประชุม และคิดว่าไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรอเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา

“ขณะนี้ยังเป็นการคุยกันเรื่องคอนเซ็ปต์ ซึ่งทราบว่า มรภ.และ มทร.หลายแห่งเตรียม

ความพร้อมที่จะออกนอกระบบ หากมีกฎหมายฉบับนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะไปเป็น ม.ในกำกับรัฐ เพราะเป้าหมายการยกร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นส่วนผสมระหว่าง ม.ในกำกับ กับมหาวิทยาลัยรัฐ นำข้อดี ข้อเสีย มาผนวกรวมกัน เพื่อให้เป็นกฎหมายที่มีความทันสมัยใช้ได้จริง” รองปลัด อว.กล่าว

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า สำหรับมหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อเปลี่ยนสถานะไปเป็น ม.ในกำกับรัฐ ยังสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้น ทาง

คณะกรรมการยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าว แต่สาเหตุหลักที่ต้องปรับแก้ เพื่อให้การบริหารงานมีความยืดหยุ่น มีความเป็นธรรมาภิบาล โดยไม่จำเป็นต้องออกนอกระบบ ส่วนที่กังวลว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวจะไปตีกรอบการทำงานของ มรภ.และ มทร.นั้นไม่เป็นความจริง เพราะในขั้นตอนของการปรับแก้จะต้องเชิญผู้แทนของกลุ่ม มรภ.และ มทร.เข้าร่วม รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนดำเนินการให้ เหมาะสม เชื่อว่าหากดำเนินการเรียบร้อยแล้ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ ทำให้การบริหารงานของ มรภ.และ มทร.เกิดความคล่องตัวมากขึ้นอย่างแน่นอน

นายสมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดี มทร.กล่าวว่า มทร.ทั้ง 9 แห่งเห็นด้วยที่มีการ ปรับแก้ พ.ร.บ.มทร.เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การอุดมศึกษาฯ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของมหาวิทยาลัย รวมถึงพัฒนาหลักสูตร แก้ปัญหาข้อติดขัดที่เกี่ยวข้องกับระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับเอกชน ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบราชการ ทำให้เกิดความล่าช้า เป็นต้น

“ภาพรวม มทร.ทั้ง 9 แห่งค่อนข้างเห็นด้วยกับการปรับแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับการทำงานในปัจจุบัน ส่วนการออกนอกระบบนั้น มหาวิทยาลัยใดที่มีความพร้อม ก็คงต้องดำเนินการต่อเนื่อง อย่างของ มทร.ธัญบุรีเอง ดำเนินการยกร่างกฎหมายเพื่อออกนอกระบบไปแล้วค่อนข้างมาก ดังนั้นก็คงต้องดำเนินการต่อ ส่วน มทร.ใดที่ยังไม่มีความพร้อม ก็รอใช้ พ.ร.บ.มทร.ใหม่ ที่อยู่ระหว่างปรับแก้ คิดว่าจะช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัว ทันสมัยช่วยพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี” นายสมหมายกล่าว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]