อว.ลุย’สอบ-เอาผิด’ช้อปงานวิจัย มช.อีก2-ทักษิณ1-มอ.สงสัย12คน

มติชน ฉบับวันที่ 19 ก.พ. 2566
อธิการบดี ม.ทักษิณชี้ นักวิชาการไทยช้อปงานวิจัยสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของสังคม หนุนปราบเต็มที่ มช.ลุยตรวจสอบอาจารย์ลักลอบช้อปผลงานวิจัยส่งตีพิมพ์เผยแพร่ สอบวินัย-ลงโทษไปแล้ว 1 ราย ยังพบทำผิดอีก 2 ราย

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ กรณี 34 มหาวิทยาลัย รายงานผลการตรวจสอบอาจารย์หรือนักวิจัยในสังกัด ว่ามีการ กระทำที่เข้าข่ายการผิดจรรยาบรรณการ เผยแพร่ผลงานจากการซื้อผลงานตีพิมพ์ วิจัย ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้รับทราบ และพบว่า มีบุคลากรที่มีข้อสังเกตเข้าข่ายในการผิดจรรยาบรรณการตีพิมพ์ผลงานวิจัย จำนวน 33 คนใน 8 มหาวิทยาลัย โดยทาง อว.จะรายงานเรื่อง ดังกล่าวให้ กกอ.รับทราบ เพื่อวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่อไปนั้น

นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ในส่วนของ มช. เดิมพบอาจารย์ที่กระทำผิดจรรยาบรรณการเผยแพร่ผลงานจากการซื้อผลงานตีพิมพ์วิจัย จำนวน 1 ราย ซึ่งหลักฐานชัดเจน และได้ดำเนินการสอบวินัยร้ายแรงรวมถึงลงโทษทางวินัยเรียบร้อยแล้ว จากนั้นได้ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม พบอาจารย์ที่เข้าข่ายกระทำความผิดอีก 2 ราย โดยได้แจ้งข้อมูลอาจารย์ ทั้ง 3 รายให้ อว.ได้รับทราบแล้ว กระบวนการจากนี้ จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเก็บหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และต้องให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหาได้แก้ข้อกล่าวหา เพื่อให้เกิดความรัดกุม ไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งหรือปัญหาฟ้องร้องตามมาในภายหลัง ระหว่างสอบข้อเท็จจริง ทาง มช.ก็ไม่ได้นั่งนอนใจยังดำเนินการตรวจสอบอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับแวดวงวิชาการ ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยกลุ่ม ทปอ.ได้มีการหารือและกำชับให้ทุกแห่งเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูล หากพบว่า มีอาจารย์ รายใดต้องสงสัยว่าอาจกระทำความผิด ให้แจ้งข้อมูลให้ อว.รับทราบโดยตรง แต่ได้ประสานกับ อว.ว่า จะส่งเพียงตัวเลขผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิด โดยไม่ส่งชื่อ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด ไม่ให้เกิดการฟ้องร้องตามมาในภายหลัง เพราะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ทปอ.ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ. ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อดึงความน่าเชื่อถือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยกลับคืนมา

ด้านนายสมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะประธานที่ประชุม มทร.กล่าวว่า มทร.ทั้ง 9 แห่งได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าไม่มีอาจารย์รายใดเข้าข่ายทำผิดจรรยาบรรณทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นคัดลอกหรือซื้องานวิจัยจากต่างประเทศ เหตุเพราะ มทร.เน้นการสร้างนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งจากไทยและต่างประเทศมารองรับ ดังนั้นโอกาสและความจำเป็นที่อาจารย์จาก มทร.จะไปซื้องานวิจัยเพื่อทำผลงานจึงไม่มี โดยทาง ทปอ.มทร.ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ อว.ได้รับทราบแล้ว

“กระบวนการสร้างนวัตกรรมของ มทร.จะมีการตรวจติดตามงานทุกระยะ เพื่อให้การดำเนินการค้นคว้านวัตกรรมเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถใช้ได้จริงซึ่งเมื่อมีการติดตามอย่างเข็มงวด โอกาสที่จะคัดลอกผลงานผู้อื่นจึงไม่มี 100% ส่วนจะแก้ปัญหาอาจารย์ซื้องานวิจัยอย่างไรนั้น ทาง อว.คงต้องมีมาตรการที่เข้มขนในการติดตามการดำเนินการวิจัยของอาจารย์ต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการตรวจสอบในเบื้องต้น” นาย สมหมายกล่าว

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า ถือเป็นการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของสังคมที่มีต่อมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เพราะมหาวิทยาลัยควรเป็นแบบอย่างที่ดีงามและมีบทบาทสำคัญในการยกระดับสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ดีแก่สังคม กระนั้นการตรวจสอบ เปิดเผยข้อมูล และดำเนินการอย่าง ตรงไปตรงมา นอกจากเป็นการขจัดความ คลุมเครือ ข้อสงสัยให้หมดไปแล้ว ด้านหนึ่งคือการทำให้เกิดการปรับตัวที่ต้องผลิตสร้างองค์ความรู้และผลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ มีจริยธรรม ธรรมาภิบาลตามมาตรฐานการวิจัยอันจะนำมาซึ่งการประโยชน์จากงานวิจัยที่แท้จริงต่อไป ในส่วนของมหาวิทยาลัยทักษิณได้ตั้งคณะกรรมการสำรวจสถานะการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ และทำการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พบความผิดปกติในสถานะการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ 1 ราย และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมายกำหนดแล้ว

“ในเชิงนโยบายได้แต่งตั้ง คณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองให้เกิดมาตรฐาน ความเป็นธรรมและคุณภาพที่ดี เกี่ยวกับจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย แก่บุคลากรและนิสิตให้เป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาระบบกลไกบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และรูปแบบของผลงานทุกประเภทตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ ขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ นวัตกรรมสังคมของมหาวิทยาลัย” รศ.ดร.ณฐพงศ์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า กรณี ม.อ.ติด 1 ใน 8 มหาวิทยาลัย ที่ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า มีบุคลากรต้องสงสัยตีพิมพ์ผิดปกติ 12 คน ได้แต่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว 7 คน หากไม่สามารถชี้แจงผลงานวิจัยดังกล่าวได้ คือไม่มีเหตุผลเพียงพอ ต้องสอบทางวินัยต่อไป และพบบางคนสามารถชี้แจงสมเหตุ สมผลฟังขึ้น ยังพบกรณีมีความชำนาญด้านหนึ่งแต่มีผลวิจัยอีกด้านหนึ่ง และอีกประเภทหนึ่งลูกศิษย์อยู่ต่างประเทศเจตนาดีต่ออาจารย์ใส่ชื่ออาจารย์ในงานวิจัยด้วย ทาง ม.อ.ให้รีบถอดชื่อออกทันที

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]