ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 เม.ย. 2566
กรวัฒน์ วีนิล
“โครงการนวัตกรรมการผลิตอิฐบล็อกประสานและกระถางต้นไม้จากมูลโคเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโครงการที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศหรือ บพข.ได้สนับสนุนทุนวิจัย มี ดร.ณัฐภร แก้วประทุม นักวิชาการ 7 ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) เป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินงานวิจัยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ร่วมกับฟาร์มโคนมของเกษตรกรใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ปรากฏว่าความก้าวหน้าของโครงการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”
ผศ.ดร.ประชุม คำพุฒ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บอกถึงการนำมูลโคนมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชุมชนอันสอดคล้องกับ BCGโมเดล
จากในอดีตชาวบ้านใช้มูลสัตว์ร่วมกับฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำยุ้งฉางเก็บเมล็ดพืช ใช้ทำที่อยู่อาศัย ทำบ้านดิน มีข้อดีที่ต้นทุนต่ำเป็นธรรมชาติช่วยรักษาอุณหภูมิในห้องได้ดี ทีมวิจัยจึงเลือกที่จะทำอิฐบล็อกประสาน ที่ใช้ก่อสร้างผนังอาคารประหยัดพลังงานและได้นำมาพัฒนาสูตรใหม่ให้มีความทันสมัย น่าใช้งาน แข็งแรง สวยงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากอิฐบล็อกแล้ว ยังมีกระถางต้นไม้ โดยนำมาผสมกับสารเชื่อมประสานและขึ้นรูปด้วยเครื่องอัด สามารถทำส่วนผสมได้ทั้งแบบย่อยสลายได้เพื่อใช้เพาะกล้าต้นไม้ทดแทนถุงเพาะพลาสติก และกระถางต้นไม้แบบไม่ย่อยสลาย เพื่อเป็นกระถางปลูกต้นไม้ตกแต่งขนาดต่างๆ ที่นิยมใช้ในท้องตลาด สามารถนำไปปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก เช่น แคคตัส ไม้อวบน้ำ และไม้ประดับอื่นๆ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยยังมีเป้าหมายทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากมูลโคเพื่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ออกแบบโซ่คุณค่า พัฒนาแบรนด์ โมเดลธุรกิจออกแบบอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างช่องทางตลาดออนไลน์ให้กับชาวบ้าน โดยได้ประยุกต์ใช้หลักการออกแบบโครงสร้างธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำให้สามารถลงทุนต่อขยายโซ่คุณค่าของกิจการขายน้ำนมดิบของกลุ่มสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองให้นวัตกรรมอิฐและกระถางจากมูลโคเติบโตเป็นธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการวางตำแหน่งแบรนด์ให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้า เป้าหมายแรก ที่อายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน มีวิถีชีวิตคนเมือง ใช้บริการคาเฟ่ ปลูกพืช ท่องเที่ยว ทำครัว และถ่ายรูปบนสื่อสังคมออนไลน์ (กลุ่ม Y2K)
โดยกลุ่มเป้าหมายนี้มีพฤติกรรมสร้างสมดุลการใช้ชีวิตสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมีอัตลักษณ์หรือเป็นสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ จึงเป็นเครือข่ายเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้เป็นระบบลูกค้าสัมพันธ์ ที่ช่วยสื่อสารเพื่อขยายตลาดเป็นตัวแทนในการหาประเด็นนวัตกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอาจสนใจร่วมหลักสูตรจากศูนย์เรียนรู้และยกระดับเป็นผู้ร่วมลงทุนในกิจการที่เกิดจากนวัตกรรมการผลิต อิฐกระถาง และกิจการต่อขยายจากคาเฟ่
“นักวิจัยได้ร่วมทำงานกับหัวหน้าโครงการและเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ออกแบบโรงงานต้นแบบการผลิตอิฐกระถางที่ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ และก๊าซชีวภาพจากมูลโค รวมทั้งใช้วัสดุหมุนเวียนทั้งอิฐก่อผนังและวัสดุมุงหลังคาที่เป็นส่วนประกอบของโรงงานต้นแบบ รวมทั้งการออกแบบระบบผลิต โดยหลังจากโรงงานต้นแบบและกระบวนการผลิตเริ่มผลิตต่อเนื่อง ต้นแบบโมเดลธุรกิจและการสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์จะถูกพัฒนา และทวนสอบต่อไปเพื่อให้ธุรกิจเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนและประเมินการเติบโตต่อไป”.