เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 พ.ค. 2566
การนั่งทำงาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในท่าทางอิริยาบถเดิมนาน ๆ พฤติกรรมเหล่านี้มักส่งผลทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังช่วงบนซึ่งสามารถนำสู่อาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้ โดยปัญหาที่มักตามมาคือ การปวดกล้ามเนื้อ ตึงคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวกระบอกตา ปวดหลัง ฯลฯ
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและอาการร่วมข้างต้น เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในกลุ่ม โรคออฟฟิศซินโดรม ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ ความรู้ ออฟฟิศซินโดรม จากเอกสารโครงการเสริมสร้างสุขภาพดีกับการทำงานอย่างมีความสุขด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แนะนำการยืดคลายกล้ามเนื้อ ท่ากายบริหารลดอาการออฟฟิศซินโดรม
“ออฟฟิศซินโดรม” กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด เป็นอาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องจากลักษณะการทำงาน ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ โดยร่างกายไม่ได้ผ่อนคลาย หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นเวลานานขณะทำงาน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนวัยทำงาน
สาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากท่าทางอิริยาบถ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การนั่งหลังค่อม นั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น ก้มคอมากเกินไป ก้มเป็นเวลานาน รวมถึงความเครียด ฯลฯ โดยหากปล่อยให้มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นนานวันโดยไม่ดูแล อาจลุกลามกลายเป็นอาการป่วยเรื้อรัง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตบุคคลนั้น ทั้งนี้การสังเกตตนเองและดูแลสุขภาพจะช่วยให้ลดความ เสี่ยงได้
“ออฟฟิศซินโดรม ส่วนใหญ่ จะแสดงอาการออกมาในลักษณะของการปวดตึงกล้ามเนื้อของอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ คอ บ่า ไหล่ มือ ข้อมือ หลังส่วนบน หลังส่วนล่าง ตะโพก บางรายอาจมีอาการปวดลงไปถึงขา อาการที่พบได้บ่อยคือ ปวดตึงที่คอและบ่าโดยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะอาการปวดอาจเริ่มจากปวดเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงและทรมานบางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย”
จากที่กล่าวออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ทั้งจากลักษณะการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม ขาดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ขยับเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ค้างในท่าทางเดิม โดยกล้ามเนื้อบางส่วนถูกยึดค้าง ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพ โดยยิ่งเนิ่นนานออกไปอาจก่อให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
การเคลื่อนไหวร่างกาย ยืดเหยียดให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยืดหยุ่น ลดความตึง กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย นอกจากช่วยลดการบาดเจ็บ ยังส่งผลให้ร่างกายทำงานได้ดี สมดุล อีกทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เดิม ๆ ที่ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมก็มีความสำคัญ
“ก้มหน้า-เงยหน้า” เป็นหนึ่งในท่าบริหาร โดยท่าดังกล่าวจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอคลายตัว โดยท่าก้มหน้าจะใช้มือทั้งสองข้างประสานไว้บริเวณท้ายทอย ก้มศีรษะลงพร้อมกับใช้มือที่ประสานออก แรงกดลง โดยให้ลำตัวของผู้บริหารตั้งตรง ส่วนท่าเงยหน้า ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างประสานไว้บริเวณใต้คาง เงยหน้าพร้อมกับใช้ฝ่ามือ ดันให้เงยหน้า ให้ลำตัวของผู้บริหารตั้งตรง เช่นกัน
“ท่าหันซ้าย หันขวา” ประโยชน์จากท่าบริหารนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอคลายตัว โดยวิธีการ มือซ้ายวางอยู่บริเวณขาขวา มือขวาวางไว้บริเวณแก้มด้านขวาและออกแรงดันไปด้านซ้าย ลำตัวของผู้บริหารตั้งตรงเช่นกัน จากนั้นสลับข้างทำเหมือนขั้นตอนแรกแต่สลับข้างเป็นด้านขวา
อีกหนึ่งท่า “เอียงคอหูชิดไหล่ซ้าย ขวา” กายบริหารท่านี้ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอคลายตัวเช่นกัน โดยวิธีการ เริ่มจากมือข้างขวาสอดไว้บริเวณก้น มือข้างซ้ายจับบริเวณศีรษะเหนือใบหู มือด้านซ้ายออกแรงดึงให้ใบหูชิดกับหัวไหล่ โดยให้ลำตัวผู้บริหารตั้งตรง เป็นต้น รวมทั้ง การนวดไทย ก็ช่วยให้กระตุ้นระบบไหลเวียนของโลหิต ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลดอาการปวด ตึงลงได้.