คอลัมน์ เช็กอัพกายใจ: ปลดล็อกอาการ ‘นิ้วล็อก’

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 ก.ค. 2566
การทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือรับน้ำหนักเป็นเวลานาน หรือต้องทำซ้ำๆบ่อยๆไม่ว่าจะเป็นการถือ แบกของเป็นเวลานาน หรือใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงบริเวณมือ ข้อมือ บ่อยๆ ฯลฯ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนิ้วล็อก ทั้งนี้ หากมีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถบริหารมือและนิ้วมือ แช่น้ำอุ่นและการนวดคลึงเบาๆ บริเวณข้อนิ้วมือที่มีอาการ

แต่หากมีอาการมาก มีอาการข้อยึดติด ไม่สามารถงอนิ้วได้ ไม่ควรวางใจควรพบแพทย์ ทั้งนี้นำความรู้การดูแลตนเอง นำเรื่องน่ารู้นิ้วล็อก อีกหนึ่งภัยใกล้ตัวโดย อาจารย์นิธิพันธ์ บุญเพิ่ม รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะการแพทย์ บูรณาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่า นิ้วล็อกเกิดขึ้นได้กับช่วงวัยทำงาน แม่บ้านเนื่องจากลักษณะของงานหรือพฤติกรรมที่ต้องเกร็งนิ้วเป็นเวลานานๆ พฤติกรรมเหล่านี้ส่งเสริมทำให้เกิดพังผืดบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบีบรัดไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ เวลาที่กำมือ แบมือ ขยับนิ้วมือทำให้เกิดอาการปวด และหากมีอาการเพิ่มมากขึ้นจะทำให้การกำมือขยับนิ้วมือเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

สัญญาณที่อาจนำมาเป็นหลักสังเกตคือ เวลาที่กำมือหรือคลายนิ้วออกจะมีอาการตึงฝืดบริเวณนิ้วมือ โดยอาการตึงฝืด จะเป็นในระยะต้น ส่วนระยะต่อมาจะแสดงอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว และหากมีอาการเพิ่มขึ้นจะไม่สามารถกางออกได้ ดังนั้นหากเริ่มมีความผิดปกติอย่าวางใจ

“นิ้วล็อก เอ็นนิ้วมืออักเสบ” เกิดขึ้นได้กับทุกนิ้ว แต่ที่มักพบได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วหัวแม่มือ และตำแหน่งที่เกิดการอักเสบคือ บริเวณโคนนิ้วข้างใดข้างหนึ่ง ภาวะนิ้วล็อก หรือ ภาวะปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดจากการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ มีการเสียดสีทำให้เกิดอาการปวด หรือติดล็อกได้ โดยอาการแบ่งเป็น ระยะนิ้วฝืดการกำมือ แบมือมีอาการปวดที่บริเวณโคนนิ้วหรือฝืดที่นิ้วมือ ระยะนิ้วติด เวลาที่กำมือ หรือกางมือไม่สามารถกางออกได้ตามปกติ ต้องใช้อีกหนึ่งมือช่วยหรือพยายามบังคับให้นิ้วขยับออก และระยะนิ้วล็อกจะไม่สามารถกางออกได้ ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยให้กางออก

หากเริ่มมีอาการ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการมากขึ้น ดังเช่น การถือของหนักๆ หรือการพิมพ์งานใช้นิ้วมือข้อมือนานๆ ฯลฯ ดังที่กล่าวหากมีอาการเพียงเล็กน้อย บริหารมือและนิ้ว แช่น้ำอุ่นและการนวดคลึงบริเวณโคนนิ้วและนิ้วมือ ดูแลตนเองในช่วงที่มีอาการเบื้องต้นได้

อาจารย์นิธิพันธ์อธิบายเพิ่มอีกว่า การบริหารมือและนิ้วมือสามารถทำได้ตลอด โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน ดังเช่นการกำมือให้สุดให้รู้สึกว่าเกิดอาการเกร็ง ประมาณห้าวินาทีแล้วคลายออก การกระดกข้อมือขึ้นลง ฯลฯ ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับการทำงานได้ อย่างเช่น หากทำงานผ่านไปหนึ่งชั่วโมง หยุดพักเปลี่ยนอิริยาบถ บริหารมือและนิ้วบ้าง เป็นต้น

ส่วน การแช่น้ำอุ่น แช่ในช่วงเวลาเช้าและเย็น เมื่อแช่น้ำอุ่นแล้วให้นวดคลึงเบาๆบริเวณโคนนิ้ว ข้อนิ้วที่มีอาการ เป็นการเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อ กล้ามเนื้อเส้นเอ็นบริเวณนิ้วให้ทำงานได้ดีขึ้น อาการนิ้วล็อกจะค่อยๆลดลง ดีขึ้น อีกทั้งการแช่น้ำอุ่นช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น พังผืดบริเวณเส้นเอ็นอ่อนนุ่มลง ทั้งนี้เป็นกรณีที่เริ่มมีอาการ

อีกส่วนหนึ่งในการสังเกต หากกดลงบริเวณโคนนิ้วทั้งห้า นิ้วใดที่มีอาการเจ็บสุดอาจแสดงว่าเกิดภาวะเกร็ง มีพังผืดรัดปลอกหุ้มเอ็น และนอกจากการนวดทั่วไปยังมีการนวดกดจุดการนวดรักษา แต่อย่างไรแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้หลีกไกลจากนิ้วล็อก

อาจารย์นิธิพันธ์อธิบายเพิ่มทิ้งท้ายอีกว่า นอกจากนี้ใช้ การประคบ ซึ่งจะคล้ายกับการแช่น้ำอุ่น แต่ในส่วนของลูกประคบจะมีสมุนไพรต่างๆช่วยลดอาการอักเสบ อาการบวม ฯลฯ ความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นทำงานได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้การใช้ลูกประคบมีข้อควรระวังคือ ความร้อน หลังจากนึ่งเสร็จใหม่ๆควรห่อผ้าและทดสอบบริเวณแขนก่อนว่าร้อนมากไปหรือไม่ หากร้อนมากไปจะทำให้เกิดอาการพองขึ้นได้ จากนั้นจึงนำมาประคบบริเวณมือที่มีอาการ เป็นต้น.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]