บุษกร ภู่แส
เราเป็นหนึ่งเดียวในภาคตะวันออกที่สามารถผลิตและจำหน่าย แตงโมคุณภาพดีถึง 10 สายพันธุ์โดยไม่มีการตัดต่อพันธุกรรม
นงนุช แก้วสุริยา
นุชชาฟาร์มผลิตแตงโมงกว่า 13 สายพันธุ์และพืชผักปลอดสารส่งออกทั้ง ในและนอกประเทศ รับรองมาตรฐาน GAP ประกาศตัวที่จะเป็นแบรนด์ในใจผู้บริโภคทางด้านแตงโมสายพันธุ์ใหม่ โดยตั้งเป้าพัฒนาพันธุ์ใหม่สู่ตลาดปีละ 1-2 พันธุ์ หลังจากชิมลางความสำเร็จจากแตงโมพันธุ์ญาญ่า ซึ่งได้รับความนิยมและรู้จักไปทั่วโลก ล่าสุดขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยบูรพาให้วิจัยส่วนต่างๆ ของแตงโม ตั้งแต่ใบ ยอดแตงโมอ่อนๆ เถาจนถึงเปลือก ด้านนอก เปลือกด้านในสีขาวและเมล็ด ว่าจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง คอนเซปต์ คือไม่อยากจะทิ้งอะไรเลย คาดว่างานวิจัยจะเห็นผลประมาณปลายปีนี้ โดยใช้งบ ทำวิจัยประมาณ 1.2 ล้านบาท ซึ่งได้รับ การสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก สวทช.ผ่านโครงการไอแทป
ความรู้เรียนทันกันหมด
นุชชาฟาร์มตั้งขึ้นโดยคู่สามีภรรยา “นงนุช-บัญชา แก้วสุริยา” ที่ถูกพิษเศรษฐกิจช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเล่นงาน จึงย้ายกลับไปตั้งหลักที่บ้านบึง จ.ชลบุรี และเปิดแผงขายแตงโมทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้อะไร ทำให้ขาดทุน 3-4 หมื่นบาท จากนั้นเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกับแตงโม
ต่อมาตัดสินใจลงทุนปลูกบนพื้นที่ 4-5 ไร่ เริ่มต้นจากพันธุ์กินรี ได้กำไรดี จึงขยายพื้นที่ปลูก 10 และ 15 ไร่ ตามลำดับ แต่ยังไม่พอป้อนตลาดจึงชักชวนเพื่อนบ้าน มาปลูกแตงโม พร้อมกับรับซื้อและค่อยๆ กระจายกลุ่มเกษตรกรไปในพื้นที่ต่างๆ โดยรับซื้อหมดทุกเกรดทำให้มีเครือข่ายมากขึ้น
แต่ตลาดแตงโมก็เข้าสู่ยุคขาลง เนื่องจากเกษตรกรปลูกพันธุ์เดียวกันทั่วประเทศ ราคาตกลงเหลือกิโลกรัมละ 3 บาทจาก 8-10 บาท เธอจึงเสาะหาพันธุ์อื่นที่ตลาดต้องการมาปลูกด้วย พร้อมทั้งมีความคิดว่าน่าจะหาพันธุ์อื่นๆ มาปลูกให้หลากหลายขึ้น จึงติดต่อไปยังบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์หลายแห่งและได้รับเมล็ดพันธุ์ใหม่มาทดลอง ปลูก ก่อนที่จะกระจายให้เครือข่ายปลูกเพื่อลดความเสี่ยง
“ด้วยนิสัยส่วนตัวที่มองและคิด นอกกรอบอยู่แล้ว ไม่ชอบเดินตามใคร ชอบหาสิ่งแปลกใหม่ เปิดโอกาสให้ได้ไปเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ ฉะนั้น แนวคิด การปรับปรุงสายพันธุ์แตงโมจึงตอบโจทย์ รวมทั้งการนำงานวิจัยเข้ามาพัฒนาผลผลิตให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)” นงนุช ประธานกรรมการและประธานวิสาหกิจชุมชน บริษัท นุชชา ไทยเมล่อน จำกัด อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี กล่าว เธอบ่มเพาะความรู้ด้านธุรกิจด้วยการเข้าร่วมโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่ม ขีดความสามารถเอสเอ็มอี สำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้คำปรึกษาในการทำแผนการตลาด การบริหาร จัดการสินค้า และแผนการรองรับการผลิตแตงโม
เมื่อ “แม่ค้า” ขยับเป็น “ที่ปรึกษา”
2 ปีที่ผ่านมาทางทีมงานเจียไต๋ได้เชิญเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในคณะทำงานปรับปรุงพันธุ์ หลังจากบริษัทชะลอการพัฒนาพันธุ์แตงโมมานานเกือบ 10 ปี และเพิ่งกลับมาทำการพัฒนาอีกครั้ง จึงต้องการเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านแตงโมสายพันธุ์ใหม่ และมีเครือข่าย 300-400 คน มีพื้นที่เพาะปลูก 3,000-4,000ไร่ เธอจะได้รับสิทธิจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ก่อน รายอื่น
หน้าที่ของเธอ คือ บอกโจทย์ให้กับนักปรับปรุงพันธุ์ของเจียไต๋ว่า เกษตรกรต้องการแตงโมแบบไหนเพื่อย่นเวลาการพัฒนาและวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ จากเดิมที่นักวิจัยของบริษัทจะทำงานในแปลงวิจัย คิดอะไรได้ก็ทำออกมาหลายสายพันธุ์แล้วให้เลือกทำให้เสียเวลา ยกตัวอย่าง การพัฒนาพันธุ์ญาญ่าใช้เวลา 2 ปีต่อจากพันธุ์ซอนย่า เนื้อสัมผัสจะเหมือนกัน แต่ญาญ่ามีรูปทรงคล้ายพันธุ์ตอร์ปิโดและอวบกว่า
“ลอตแรกของแตงโมญาญ่าขายใน ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ราคากิโลกรัมละ 35 บาท โดยวางตำแหน่งให้อยู่ในระดับ พรีเมียม ได้รับการตอบรับดีมาก จากนั้น ได้เข้าไปจำหน่ายในเดอะมอลล์ ล่าสุด ปรับราคาขายปลีกในห้างเป็นกิโลกรัมละ 45-50 บาท” เจ้าของนุชชาฟาร์ม กล่าว
ปัจจุบันนุชชาฟาร์มมีรายได้ต่อเดือน 2.5-3 ล้านบาทจากการจำหน่ายแตงโม สำหรับความท้าทายต่อไปคือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในเรื่องแตงโมสายพันธุ์ใหม่ และตั้งเป้าพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ 1-2 สายพันธุ์ต่อปีให้ลูกค้าได้ลองชิม
“แตงโมสายพันธุ์ใหม่มีผลผลิต 5-8 ตันต่อไร่ และขยับถึง 10 ตันในพื้นที่ที่สภาพดินสมบูรณ์ ขณะที่แตงโมทั่วไป ได้ผลผลิต 3-5 ตันต่อไร่เท่านั้น จึงอยากให้เกษตรกรรุ่นใหม่ทดลองปลูกและ เรียนรู้ที่จะทำธุรกิจเกษตรด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง” คำแนะนำจากนุชชาฟาร์ม–จบ–
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
c-160913011092