ความหวัง”เยาวชนไทย”กับทักษะขับเคลื่อน”ไทยแลนด์4.0″

วิกฤติสังคมไทยใกล้ตัวที่ไม่เพียงจะกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและบุคลากรในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างชาติ เนื่องจากแรงงานขาดทักษะที่ตรงกับงาน
“ช่วง 2 ปีนี้บริษัทผมล็อกเลยไม่รับปริญญาตรี ให้รับเด็กจบ ปวส. ให้เงินเดือนเท่าปริญญาตรีเลย” อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี จำกัด (มหาชน) กล่าวผ่านสื่อหลายแขนงถึงสาเหตุหลักที่บริษัทหันมาเจาะกลุ่มตลาด ปวส.เพราะเห็นว่าแรงงานไทยยังขาดทักษะงานช่างและสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการลงทุนของต่างชาติ
การเรียนรู้ทักษะแห่งอนาคตเพื่อเตรียมกำลังแรงงานให้พร้อมในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ได้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ขอเป็นกระจกส่องสะท้อนความคิดเห็นของสังคม ในวาระ “วันเยาวชนแห่งชาติวันที่ 20 กันยายน” ของทุกปีแอนเดรียส์ ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา OECD ผู้ริเริ่ม PISA เครื่องมือวัดประเมินที่ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบศักยภาพของผู้เรียนว่าสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหา หรือสถานการณ์จริงได้หรือไม่ กล่าวว่า “ทักษะที่สอนง่าย ย่อมถูกแทนที่ได้ง่าย” ฉะนั้นทักษะในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีการยกระดับทักษะ (Skill upgrading) หรือได้รับการฝึกอบรมให้มีทักษะใหม่ที่เหมาะสม (Re-Skilling) เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจยุค 4.0 ได้
ส่วนทักษะสำคัญในอนาคตอะไรที่จะทำให้เด็กเยาวชนไทยยุค 4.0 เอาตัวรอดได้นั้น “ดร.ไกรยส ภัทราวาท” ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า มีทักษะสำคัญ 5 ประการ คือ 1 .ทักษะที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีเช่น หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ 2.ทักษะที่สามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ได้ 3.ทักษะที่จะเป็นที่ต้องการของนายจ้าง4.ทักษะที่ช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่องค์กร และเศรษฐกิจสังคม และ 5.ทักษะความยืดหยุ่นในการปรับตัว และเสริมว่า เพื่อให้ “การศึกษา” เป็นหนึ่งปัจจัยในการพัฒนา ที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) การศึกษาต้องยกระดับความเชื่อมโยงในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจให้ยั่งยืน เน้นการปลูกฝังค่านิยมเพื่อสังคมให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ และหนุนเสริมให้ผู้ประกอบการ คำนึงถึงการสร้างสังคมที่ยั่งยืนมากกว่าผลกำไร ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเสียงสะท้อนจากเด็กเยาวชนไทยที่เพิ่งก้าวสู่วัยทำงานคิดอย่างไรนั้น “เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้ก่อตั้งเพจเกรียนศึกษา กล่าวว่า หัวใจของไทยแลนด์ 4.0 คือการเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง ซึ่งจะเป็นส่วนทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จึงมีคำถามว่า ทั้งที่คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยต่างเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีจำเป็น เช่น สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ แต่ท่ามกลางโลกดิจิทัล ทำไมสังคมจึงยังดูมีวิธีคิดแบบอนาล็อกอยู่ นอกเหนือจากทักษะไอทีพื้นฐานแล้ว สิ่งจำเป็นคือ เราต้องก้าวข้ามสำนึกแบบอนาล็อกไปสู่สำนึกแบบโลกสมัยใหม่ให้ได้ สำนึกที่เชื่อว่าการตั้งคำถามและท้าทาย ผลิตภัณฑ์ บริการ โครงสร้าง และนโยบายในปัจจุบัน จะนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ทักษะสำคัญเพื่อก้าวไปสู่วัฒนธรรมที่ว่าคือ ความคิดสร้างสรรค์และสายตาที่กว้างขวางพอจะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ มาพัฒนาร่วมกันได้ ความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นดีได้แค่นี้ เป็นกับดักเหนี่ยวรั้งทั้งจีดีพีประเทศ และศักยภาพของเรา คนรุ่นใหม่จึงไม่ควรแค่ตามทันกระแส แต่ควรเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงกระแสด้วย
“สิริพร สันนิธิกุล” ปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ที่ผันตัวมาทำงานเป็นครูสอนพิเศษ เล่าว่า เคยทำงานประชาสัมพันธ์อยู่เกือบปี แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัด เพราะที่เรียนมามักจะเจอแต่การท่องจำไปสอบ แต่ยังไม่สามารถเอามาใช้งานจริงได้ “มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนให้เราใช้ชีวิตนอกกรอบตำรา ที่สำคัญบางครั้งไม่ได้ช่วยให้เราค้นพบตัวเองว่า จริงๆ แล้วเรามีความสามารถอะไรโดดเด่น แล้วพอจะค้นหาความเด่นเอาตอนทำงานก็ไม่มีนายจ้างที่ไหนจะมาเสียเวลากับเด็กรุ่นใหม่ก็เลยมาทำงานอิสระ สอนพิเศษไป รายได้ก็ดีใช้ได้ ถามว่ามีความสุขหรือความฝันหรือไม่นั้น พูดตรงๆ ว่าไม่ใช่ แต่ชีวิตมันต้องก้าวต่อไป”
“วิน” ชนะชนม์ โถชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าว่า ทราบข่าวมาจากสื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งคิดว่าอาจจะส่งผลดีและผลเสียไปพร้อมๆ กัน ตนเรียนทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีมัลติมีเดียโดยตรง จะส่งผลดีต่อการทำงานในอนาคต เพราะว่า จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทไม่เว้นแต่ภาคเกษตร แต่ระหว่างที่มีการปรับเปลี่ยนหรือในการดำเนินยุทธศาสตร์ จะเรียนรู้และพยายามคิดค้นหรือวิจัยพัฒนานวัตกรรมที่นำความรู้ทางด้านการเรียนมาประยุกต์กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด
และเพื่อแก้ปัญหาการเรียนจบแล้วทักษะไม่ตรงตามวุฒิ ไปพร้อมๆ กับการติดอาวุธให้กลุ่มเยาวชนอายุ 15-22 ปี โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ม.3 ม.6 และปวช. ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบการศึกษาให้มีทักษะเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงร่วมกับ สสค.มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้จังหวัดมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพได้เองในระยะยาว
“ผลการวิจัย มธบ. ร่วมกับสสค.ในเรื่อง ช่องว่างทักษะเพื่อ ส่งเสริมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ใน จ.ตราด ค้นพบที่น่าสนใจว่า อาชีพในอนาคตที่ตราดต้องการอีก 5 ปีข้างหน้า คือ 1.เกษตรพาณิชย์ 2.การค้าชายแดน และ 3.การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฉะนั้นการออกแบบหลักสูตรจำเป็นต้องมุ่งส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีทักษะที่จะนำไปสู่การสร้างงานในกลุ่มที่เป็นอาชีพในอนาคตของ จ.ตราด ด้วย จะสอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดปัญหาเด็กจบมาไม่มีงานทำและปัญหาแรงงานขาดทักษะให้หมดไป” ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีด้านการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มม. ซึ่งทำโครงการวิจัยกับ สสค.ในโครงการพัฒนาหลักสูตรเตรียมอาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยอายุ 15-19 ปี กล่าวทิ้งท้าย
คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

c-160920014139-1

c-160920014139-2

c-160920014139-3
c-160920014139

c-160920036068-1

c-160920036068-2

c-160920036068-3

 

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]