มาส์คสมุนไพรผลลัพธ์วิจัยเชื่อมธุรกิจ

บุษกร ภู่แส
ประสบการณ์กว่า 10 ในธุรกิจรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง “บารามี แลบบอราทอรี่ส์”มองเห็นตลาดผลิตภัณฑ์มาส์คบำรุงผิวหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงลงทุนพัฒนาสินค้าของตัวเอง พร้อมเสริมเด่นด้วยงานวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี
ผลิตภัณฑ์ในชื่อ “มาตุลี” (Matuli) เกิดขึ้นในเวลา 2 ปีต่อมา การันตีความสำเร็จด้วยรางวัล Special Award on Stage และรางวัล Gold Medal จากงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ 2559 ณ กรุงเจนีวา ซึ่งเป็นเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
นักวิจัยคือทางลัดธุรกิจ
ศันสนีย์ กองไชย ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดบริษัท บารามี แลบบอราทอรี่ส์จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าบริษัทมีทีมวิจัยและพัฒนาแต่การร่วมมือกับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่าง ดร.ไฉนน้อยแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นไปอย่างก้าวกระโดดแทนการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง
“พื้นฐานธุรกิจคือ การรับจ้างผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปาให้กับแบรนด์ต่างๆ แต่แผ่นมาส์คมาตุลีเป็นสินค้าตัวแรกที่เราวางคอนเซปต์สำหรับการส่งออกโดยเฉพาะ ภายใต้แบรนด์ของเราเอง โดยแยกออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่งในการทำตลาดและจัดจำหน่ายอย่างชัดเจน”
ศันสนีย์ กล่าวว่า การตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมา เพราะมองเห็นแนวโน้มตลาดมาส์คหน้าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศจีนส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นความต้องการในตลาดยุโรปและอเมริกาเพิ่มตามด้วย จึงเป็นเหตุให้พัฒนาสินค้าเพื่อทำตลาดในโซนตะวันตกรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีก่อนที่กลับมาทำตลาดในประเทศ จุดขายของมาตุลีไม่ใช่สกินแคร์แต่เป็นสินค้าที่เข้ามาเต็มความปรารถนาทางจิตใจ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ทั้งทางร่างกายคือ การมาส์คหน้า และด้านจิตใจในเรื่องของการทำสมาธิด้วยเสียงเพลงบรรเลงที่มาพร้อมตัวผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการทำตลาดออนไลน์รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคไอที ทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในวงกว้างและตอบโจทย์ความต้องการของโลกการค้าในยุคนี้ได้ได้ดี ขณะเดียวกันก็มีช่องทางขายในห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์อย่างคิงพาวเวอร์และพารากอน
“เราวางตำแหน่งสินค้าไว้ในระดับพรีเมียม มีกลุ่มเป้าหมายอายุ 35 ปีขึ้นไป รายได้ระดับบีบวกขึ้นไป คาดว่าต้นปีหน้าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในตลาดโลก”
บูรณาการความรู้สู่เอกชน
อาจารย์ไฉน กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะทำวิจัยร่วมกัน ทางภาคเอกชนได้พัฒนามาส์คหน้าอยู่แล้วแต่คุณสมบัติยังไม่ตอบความต้องการของตลาด จึงได้บูรณาการความรู้ให้กับทีมวิจัยของบริษัท โดยการปรับคุณภาพผลิตภัณฑ์รวมถึงการคัดเลือกพืชสมุนไพรที่จะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแผ่นมาส์คให้มีคุณสมบัติดีขึ้นโดยใช้เวลาวิจัยพัฒนา 2 ปี
โจทย์จากผู้ประกอบการคือ ต้องเป็นธรรมชาติ ให้ผู้ใช้สัมผัสได้กับพืชสมุนไพรจริง โดยนำพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติด้านความงามเข้ามาใช้ด้วยการคัดเลือกพืชที่มีศักยภาพที่สุดมาพัฒนาเป็น 6 สูตร ได้แก่ สูตรไวเทนนิ่งจากขมิ้นชัน สูตรที่ทำจากทานาคาเพื่อตอบโจทย์ตลาดญี่ปุ่น สูตรฟ้าทะลายโจรใช้รักษาสิว สูตรมะขามช่วยผลัดเซลล์ผิว สูตรถ่านไม้ไผ่เพื่อดูด ซับสิ่งสกปรกให้หลุดออกจากรูปขุมขน และสูตรชะลอวัยจากฟักข้าว
ในมุมมองของนักวิจัย อาจารย์โฉน พบว่าการที่ได้ทำงานกับภาคเอกชนทำให้ได้เรียนรู้มุมมองความต้องการของภาคเอกชน อุตสาหกรรมการผลิตจากเดิมมีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกควบคุมเรื่องระยะเวลาที่จำกัดเหมือนกับภาคธุรกิจที่ต้องการสินค้าให้ทันกับความต้องของตลาดภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ทันต่อการแข่งขัน รวมถึงแนวทางการทำตลาดในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ทุกอย่างต้องชัดเจน ส่งผลให้แนวทางการทำวิจัยต่อจากนี้ไป ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความเร็วที่เพิ่มขึ้นให้ทันต่อการแข่งขัน ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งประสบการณ์จากโปรแกรมทาเล้นท์โมบิลิตี้ (TM) ซึ่งเป็นนโยบายที่เอื้ออำนวยให้บุคลากรวิจัยภาครัฐ เข้าไปช่วยกิจกรรมของภาคเอกชนในเรื่องการวิจัยพัฒนา
c-160929011154-1
c-160929011154-2

c-160929011154

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]