ชลธิชา ศรีอุบล มทร.ธัญบุรี
สาขาภาษาไทยคณะศิลปศาสตร์ จัดการ “เสวนาเที่ยวไทยมีเฮ เท่ หรือ ทำลายวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมหรือไม่ ที่ได้นำเรื่องราวของทศกัณฐ์ที่เป็นตัวเอกของเอ็มวีเที่ยวไทยมีเฮ มานำเสนอประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่ “นายมาโนช บุญทองเล็ก” หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี “ผศ.ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร” อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้เขียนหนังสือนามปากกา “ทัศนาวดี” “นายโสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาไทย หัวหน้าสาขาภาษาตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ ณศลปศาสตร มทร.ธัญบุรี ดำเนินการเสวนาโดย นายสมพงษ์ บุญหนุน อาจารย์ประจำสาขาภาษาตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี
นายมาโนช บุญทองเล็ก หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ ในฐานะผู้สอนโขนให้แก่นักศึกษาเล่าว่า จากการดูเอ็มวีลักษณะการนำเสนอมีหลายมิติ การใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งด้านความบันเทิง การค้า และธุรกิจ ในเอ็มวี ใช้ทศกัณฐ์เป็นตัวเอกดำเนินเรื่อง รามเกียรติ์ ได้รับอิทธิพลมาจาก รามายณะ ของประเทศอินเดีย ได้ซึมซับมาเป็นรูปแบบ ซึ่งสังคมไทย มีความเชื่อในเรื่องคุณค่า ตัวทศกัณฐ์มี ฐานานุศักดิ์ ในเรื่องของจารีตที่เจ้าเมืองควรทำและไม่ควรทำ ซึ่งทางวรรณกรรมมาแปลงและสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ด้วยจารีตวิชาชีพ ในด้านนาฏศิลป์กำหนดไว้ ในส่วนของเอ็มวี คิด
ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องของจารีตของโขน ทศกัณฐ์แคะขนมครกสามารถทำได้ แต่ทศกัณฐ์ขี่ม้าไม่เหมาะ หรือแม้แต่การไปนั่งกินข้าวกับเหล่าทหาร มีช่องว่างของตัวละคร โดยตามหลักความเป็นจริงคนที่สามารถเข้าใกล้ทศกัณฐ์มีเพียงยักษ์เสนาบดี 2 ตัว คือ เปาวนาสูร และมโหทร
“ไม่ได้คัดค้านการนำโขนมาทำโฆษณา หรือห้ามนำตัวทศกัณฐ์มาใช้ แต่อยากให้ยึดจารีตของการแสดงโขน อย่าเพียงใช้ให้เป็น กระแส”
ผศ.ดร.สุทัศน์ เล่าว่า ในฐานะที่สอนทางด้านวรรณคดี ในการนำเรื่องราวมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ทุกอย่างมีที่มาและที่ไป ในเรื่องของจารีตของแต่ละแขนง ซึ่งสามารถเกิดจากความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหยุดได้ เช่น ในเรื่องภาษา ในส่วนของภาษาในเฟซบุ๊ก โดยส่วนตัวในการอิงกระแสต้องดูความถูกต้องของจารีตว่าควรใช้หรือไม่ควรใช้ จารีตในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธามาพร้อมกัน กาลเทศะในการสืบทอดประเพณี ซึ่งในความจริงสามารถนำมาใช้ได้ แต่ต้องคำนึงว่านำมาใช้อย่างไร เกิดจากความรู้หรือเจตนา ในการนำเรื่องราวมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิต หรือการนำมาสื่อสารต้องให้ข้อคิด คือสิ่งสำคัญในการนำมาใช้ ส่วนตัวอยากให้เนื้อหาในเอ็มวีมีความรู้ และความรู้สึกให้เกิดความพอดี วางบทบาทอยู่ในสังคมร่วมสมัย “ทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับความศรัทธาที่มีมาแต่เดิม”
นายโสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาไทย หัวหน้าสาขาภาษาตะวันออก
เล่าว่า คนไทยโดยส่วนใหญ่มีความรู้สึกในบทบาทนั้นจริงหรือภาษาในปัจจุบันเรียกว่าอิน ซึ่งทุกอย่างมีที่อยู่เฉพาะของมันทั้งสิ้น เช่นในเรื่องของภาษาพูดและภาษาเขียน ความคิดรวบยอด (Concept) และเนื้อหา (Content) ไม่เหมือนกัน สำหรับเอ็มวีเที่ยวไทยมีเฮ มองว่าเท่ หรือทำลาย ตนว่ามีทั้ง 2 แง่ ทำอย่างไรก็ได้ให้สองสิ่งนี้มาอยู่ร่วมกัน การนำทศกัณฐ์มาใส่ความเท่ ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง “วัฒนธรรมกับเทคโนโลยีอยู่ร่วมกัน อยู่ที่การเลือกวิธีใช้”
นายวุฒิศักดิ์ จ้องสาระ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขานาฏศิลป์ไทยศึกษาเล่าว่า เป็นโฆษณาที่ดีที่ได้นำวัฒนธรรมมานำเสนอผ่านเรื่องราวการท่องเที่ยว ซึ่งคิดว่าถูกใจวัยรุ่นหลายๆ คน แปลกใหม่ ให้แก่ยุคสมัย แต่อีกในมุมมองหนึ่ง ในฐานะของนักแสดงโขน ซึ่งรับบทเป็นทศกัณฐ์คิดว่า ในการนำเสนอเรื่องราวควรเป็นเรื่องราวที่ถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากความถูกต้องจะสอนลูกหลานรุ่นหลังได้เข้าใจในเรื่องราวที่ถูกต้อง เมื่อโฆษณาออกมาผิดๆ จะทำให้คนดูจำสิ่งที่ผิดๆ
ต่างคนต่างความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างบอกและสะท้อนเป็นสิ่งเดียวกันว่า ควรใส่องค์ความรู้ลงไปในเอ็มวีด้วย
c-161011014136