มงคล ลีลาธรรม
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
การช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่เคยประสบปัญหาให้เริ่มกลับมาเข้มแข็ง เป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ ธพว. ซึ่ง ในปี 2559 ธพว. ได้ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือไปแล้ว จำนวน 6,999 ราย เป็นวงเงินรวม 9,207 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจรายย่อยดังกล่าวได้ฟื้นฟูกิจการ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ช่วยรักษาการจ้างงาน และกระตุ้นการหมุนเวียน ในระบบต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/2559 นี้ ซึ่งเป็นช่วง ฤดูกาลจับจ่าย จะส่งผลดีต่อกิจการของผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัดได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ธพว. ได้ช่วยเหลือพลิกฟื้นกิจการผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนที่ ธพว. ดำเนินการเอง และในส่วนที่ ธพว. เข้าไปเป็นหน่วยร่วม หรือเข้าไปเป็นผู้ประสานงานการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่
การเข้าไปช่วยลูกค้าที่ยังทำธุรกิจอยู่แต่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ต้องการฟื้นฟูกิจการ ผ่านโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ซึ่ง ธพว. เป็นหน่วยร่วมดำเนินการร่วมกับ สสว. วงเงินโครงการรวม 1,000 ล้านบาท ให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ชำระคืนภายใน 7 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย เพื่อให้ SMEs กู้ยืมเงินไปพลิกฟื้นกิจการโดยไม่ต้องมีหลักประกัน ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีสถานะเป็นหนี้ปกติ หรือเป็นลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการวินิจฉัยเชิงลึกในโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ประกอบการ ที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูตาม พรบ. ล้มละลายใหม่ เมื่อได้รับการ อนุมัติแผนตามกระบวนการเรียบร้อยแล้วก็สามารถเข้าสู่โครงการนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้ของ ธพว. ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการรวม 4 ราย จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนำเสนอต่อศาลล้มละลายรับคำร้องแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาอีก 2 ราย
นอกจากนี้ ธพว. ยังให้โอกาสไปถึงกลุ่มที่เคยติดขัดแต่ยังประคับประคองธุรกิจอยู่ต่อไป อาทิ ลูกหนี้ที่อยู่ในขั้นตอนกฎหมาย ธนาคารได้จัด โครงการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับกรมบังคับคดี ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 7 จังหวัด คือ สงขลา กรุงเทพ ขอนแก่น ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา เจรจาสำเร็จ รวม 872 ราย คิดเป็นเงินต้น 276 ล้านบาท และมีแผนจะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อีกหลายแห่ง ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี นครพนม นครศรีธรรมราช และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคาดว่าจะสามารถช่วยรักษากิจการ SMEs ให้อยู่รอดต่อไปได้อีกมากกว่า 2,000 ราย
นโยบาย ธพว. จะให้โอกาสอย่างที่สุดในการช่วยเหลือ แม้แต่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ในโครงการพัฒนาแท็กซี่ไทย ธนาคารก็เข้าไปดูแลโดยเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้โดยชำระตามรายได้จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขหนี้ช่วยผู้ประกอบการแท็กซี่แล้วจำนวน 309 ราย คิดเป็นเงินต้น 129 ล้านบาท
การที่ ธพว. เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ลูกหนี้รายย่อยหลากหลายกลุ่มดังกล่าว เป็นการให้โอกาสเพื่อช่วยพยุงธุรกิจของพวกเขาให้ยังคงอยู่ เป็นการเยียวยาช่วยรักษาไข้เบื้องต้น และเชื่อว่าไตรมาส 4 ปีนี้ที่เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวชัดเจน ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีให้ลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เริ่มสร่างไข้ ธุรกิจพลิกฟื้นกลับมายืนใหม่ได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง
การช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกประการหนึ่ง คือการที่ ธพว. ได้เป็นหน่วยร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs หรือที่เรียกว่า “SME Rescue Center” โดยทุกสาขา ธพว. จะเป็นศูนย์ Rescue เพื่อให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งปัญหาด้านการเงิน และปัญหาอื่นๆ เช่นปัญหาด้านการจัดการ การลดต้นทุน การตลาด การหาช่องทางการจัดจำหน่าย การพัฒนาสินค้าให้มีโอกาสค้าขายได้เพิ่มขึ้นตาม พันธกิจของ ธพว.