โครงการหลวง ‘ชั่งหัวมัน’น้ำพระทัยจากพ่อ..สู่เกษตรกร

“คนที่ไปดูก็เห็นว่า เริ่มต้นไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้น ก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ก็ไม่ก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้ เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจกรรมในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำแล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมด ร่วมกันทำ และก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ” เป็นตอนหนึ่งในพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ที่ในหลวงทรงตรัสถึงโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
สถานที่แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีพระราชดำริให้ตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ รวมพืชเศรษฐกิจของ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูก แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านช่วยกันดูแล ซึ่งแต่เดิมนั้น พื้นที่ในแถบนี้เป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซื้อที่ดินในแถบนี้จากชาวบ้าน เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองงานส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง เข้าพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นโครงการทดลองด้านเกษตร และทรงมีรับสั่งว่า เมื่อทำเสร็จจะเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการด้วยพระองค์เอง
สำหรับชื่อของโครงการ “ชั่งหัวมัน” นี้ เกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประทับที่วังไกลกังวล มีชาวบ้านนำมันเทศ ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกอยู่ในท้องถิ่นมาทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อต้องเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ เลยรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางบนตาชั่งในห้องทรงงาน และเมื่อเสด็จฯ กลับมาหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทรงพบว่ามันเทศหัวนั้นแตกใบออกมา จึงมีรับสั่งให้นำหัวมันเทศ นั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วมีพระราชดำรัสให้จัดหาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกขึ้นได้ทุกที่ แม้ว่าจะวางตั้งทิ้งไว้บนตาชั่งนั่นเอง
นอกจากจะมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการชั่งหัวมันขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมโครงการนี้ด้วยพระองค์เอง มีพระตำหนักทรงงานที่ตั้งอยู่ภายในโครงการเป็นบ้านไม้สองชั้นเรียบง่ายที่ใช้ทรงงานและพักผ่อนพระอิริยาบถเมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมโครงการนี้ รวมถึงรถที่ทรงใช้ทรงงานก็จอดอยู่ภายในบริเวณพระตำหนักด้วย เนื้อที่ภายในโครงการกว้างไกลตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ในพื้นที่แห่งนี้ สภาพเดิมโดยทั่วไปแห้งแล้ง เจ้าของเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัส เพื่อตัดไม้ขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 ไร่ แปลงอ้อยประมาณ 30 ไร่ การพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เป็นแปลงยูคาลิปตัสทั้งหมด
แต่ปัจจุบันได้จัดสรรทำการเกษตรเป็นอย่างดี มีทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว รวมทั้งมันเทศ นอกเหนือจาก พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็ยังมีการปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผักต่าง ๆ อาทิ แก้วมังกร ชมพู่เพชร กล้วย ฟักทอง กะเพรา โหระพา พริก และอื่น ๆ มีแปลงปลูกข้าว ทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว ปลูกยางพารา โดยทั้งหมดนี้จะเน้นไม่ให้มีการใช้สารเคมี หรือหากต้องใช้ก็ต้องมีในปริมาณที่น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม นอกจากมีการปลูกพืชแล้ว ยังมีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวนสวยให้คนที่แวะมาเยี่ยมชม รวมทั้งได้สร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี (มทร.) ราชมงคลธัญบุรี และบริษัท พระพายเทคโนโลยี จำกัด ร่วมกันออกแบบติดตั้ง กังหันลมและระบบจำหน่ายไฟฟ้า จำนวน 20 ชุด ขนาดกำลังผลิตรวม 50 KW ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากกองทัพบก และได้รับพระราชทานวัวนม จากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาเลี้ยงไว้ที่นี่ โดยใช้พื้นที่ใต้กังหันลมเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว ด้านหน้ามีร้านโกลเด้นเพลส ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษ รวมถึงผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ของโครงการ
นอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมพืชเศรษฐกิจ และโครงการตัวอย่างสำหรับเกษตรกรให้เข้ามาศึกษาแล้ว ประชาชนทั่วไปก็ยังสามารถเข้ามาเยี่ยมชมโครงการได้อีกด้วย โดยจะมีรถรางพาเข้าเยี่ยมชมตามจุดต่าง ๆ บางมุมก็ตกแต่งพรรณไม้ และมุมพักผ่อนสำหรับถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย
นับเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่แท้ จริงรวมถึงเป็นพื้นที่ให้ศึกษาดูงานสำหรับประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา มาได้เป็นครอบครัวหรือหมู่คณะ โดยได้มีรถรางนำชมทั่วไร่ พร้อมวิทยากรบรรยายตามแต่ละจุด เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 08.30-18.00 น. รวมถึงยังมีบริการจักรยานรองรับผู้เข้าชมและห้องชมวีดิทัศน์ของโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จัดเตรียมไว้สำหรับให้ความรู้ด้านการเกษตร รวมถึงมีจักรยานให้ปั่นรอบโครงการ ซึ่งโครงการฯ ได้ขอความร่วมมือเก็บค่าบริการเข้าชม สำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ท่านละ 20 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในเครื่องแบบคนละ 10 บาท ส่วน พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี นักบวช ผู้พิการ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ได้รับการยกเว้นค่าบริการ หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-3247-2700-1
จากหัวมันของชาวบ้านที่มาทูลเกล้าฯ ถวาย สู่โครงการพระราชดำริ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความลำบากของเกษตรกร จึงทรงตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ พืชพันธุ์ดีของอำเภอท่ายาง และของจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร รวมถึงเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแปลงหรือมาช่วยงานในโครงการ สิ่งเหล่านี้พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาให้ปวงประชาราษฎร์ อยู่ดีมีสุข บนพื้นฐานของความพอเพียง.
c-161014004013-1

c-161014004013-2

c-161014004013-3

 

c-161015035015-1

c-161015035015-2

c-161015035015-3

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]