คอลัมน์ วิถีชีวิต: ‘วิถีพุทธ’ นำสู่เส้นทาง ‘ศิลป์’ สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ ครู..ศิลปิน.. ‘ดอกบัวพันธุ์แท้’

          “ถึงแม้คุณพ่อของผมจะเป็นลูกช่างแกะสลักไม้ แต่เมื่อผมเลือกที่จะเรียนศิลปะ คุณพ่อกลับไม่สนับสนุน” เป็นคำบอกเล่าจาก รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ ศิลปินแนว “พุทธศิลป์”และอาจารย์สาขาวิชาจิตรกรรมไทย ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ถึงเส้นทางชีวิตในอดีต… แต่ถึงแม้คุณพ่อจะไม่สนับสนุน เขาก็เลือกที่จะมุ่งมั่นเดินไปบนถนนศิลปิน ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของศิลปินคนนี้มานำเสนอ…

          ชื่อเสียงของอาจารย์สุวัฒน์ หรือ “วัฒน์” ที่เพื่อน ๆ และคนสนิทเรียกกันติดปากนั้น ได้รับการยอมรับ และถูกกล่าวถึงอย่างมาก ในแวดวงศิลปะแนวพุทธศิลป์และจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ โดยเขาได้เล่าชีวิตให้ฟังว่า ชื่อเล่น “วัฒน์” ก็มาจาก “สุวัฒน์” เพราะคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่มักจะนำพยางค์สุดท้าย หรือหน้าสุด มาเป็นชื่อเล่น ทั้งนี้ เขาบอกว่า เป็นคนเหนือ โดยเกิดที่ ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย คุณพ่อเป็นลูก “ช่างแกะสลักไม้” แต่ภายหลังหันมาทำอาชีพค้าขาย ส่วนคุณแม่เสียตั้งแต่ตอนที่เขาเรียนอยู่ชั้นมัธยม โดยเขามีพี่น้อง 2 คน เป็นผู้ชายทั้งคู่ ฐานะทางบ้านจัดว่าพอมีพอกิน ซึ่งสมัยเด็ก ตามคำบอกเล่าของครอบครัว เขาค่อนข้างซน คุณพ่อจึงนำไปฝากไว้ที่บ้านของคุณปู่ซึ่งเป็น “ช่างปั้น” ชื่อดังในละแวกวัดป่าซาง ชื่อ “ช่างจู ศรีธินนท์”
“ตอนนั้นผมมีหน้าที่ช่วยปู่ผสมปูนเทปูนเข้าสู่แม่พิมพ์ ยอมรับว่าไม่รู้หรอกว่ารูปที่ทำขณะนั้นเป็นรูปอะไร แต่พอทำเสร็จออกมาเป็นรูปนาคสะดุ้งหางหงส์ พอเห็นแวบแรกก็หลงรักทันที และค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะงานศิลป์แบบล้านนา ด้วยบ้านของปู่อยู่ใกล้ ๆ วัด ระหว่างที่ทำงานหูก็จะได้ยินเสียงพระสวดมนต์ ได้ยินเสียงพระผู้ใหญ่สอนธรรมแก่พระใหม่อยู่ตลอด ก็เข้ามาอยู่ในหัวโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน พอเริ่มทำงานได้ ก็รับทำงานศิลปะทุกอย่าง ทั้งงานปั้น งานแกะ หรือกระทั่งปราสาทในงานศพที่ทำด้วยโฟม แม้ไม่ได้ค่าจ้าง มีเพียงข้าวเลี้ยง ผมก็ทำ เพราะอยากฝึกฝนตัวเอง อยากฝึกมือ” อาจารย์สุวัฒน์กล่าว และสิ่งนี้เองที่เสมือนเป็น “โรงเรียนศิลปะ” แห่งแรกของเขาเขาบอกอีกว่า การเรียนรู้แบบไม่รู้ตัวตอนนั้นมีผลดีต่อการศึกษาด้านศิลปะในเวลาต่อมา แต่จุดเปลี่ยนที่ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นในสมัยที่เขาเรียนที่โรงเรียนพานพิทยาคม เมื่อได้พบกับ อาจารย์แก้ว จันทรคราส ที่เป็นผู้ที่จุดประกายความคิดให้เขาอยากจะเป็น “ครู” โดยเขาเล่าว่า อาจารย์แก้วของเขาทำงานทุกวัน แม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ อาจารย์ก็จะพาลูกศิษย์ไปฝึกหัด Drawing นอกสถานที่ โดยออกค่าอุปกรณ์ ค่ารถ รวมถึงค่าอาหารให้เด็ก ๆ ซึ่งเมื่อเขาโตขึ้นจึงเข้าใจว่า การให้นั้นสำคัญ
มากกว่าการรับ
หลังจากฝีมือเริ่มเพิ่มพูนขึ้น ที่สุดสุวัฒน์ในขณะนั้นก็จึงได้ลองส่งผลงานชื่อ ประเพณีไทยงานฤดูหนาว ไปประกวดที่งานประกวดทางศิลปะรายการหนึ่งของประเทศตุรกี และได้รับเหรียญทองแดง แต่ตอนนั้นไม่ได้เดินทางไปรับรางวัล เพราะด้วยความที่อยู่ต่างจังหวัด แค่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯแต่ละครั้งก็ยังถือเป็นเรื่องยาก
หลังจบชั้นมัธยม เขาเลือกศึกษาระดับ ปวช. สาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เมื่อเรียนจบ ปวช. จึงเลือกเรียนต่อในสาขาจิตรกรรมไทย ที่โรงเรียนเพาะช่าง หรือวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน จากนั้นเรียนต่อปริญญาตรี 2 ปี (วิชาชีพครู) สาขาจิตรกรรม ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โดยระหว่างเรียนก็ส่งผลงานเข้าประกวด จนได้รางวัลเหรียญทองแดง จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 17 และสำเร็จการศึกษาโดยได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1
อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า ที่คุณพ่อไม่อยากให้เรียนศิลปะ เนื่องจากตอนนั้นอยากให้ลูกเข้ารับราชการ แต่เขาอยากเป็นศิลปิน เพราะได้เห็นศิลปินนามอุโฆษอย่าง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อาจารย์จำรัส พรหมมินทร์ เขียนรูปทิวทัศน์ของ อ.พาน ได้ดีมาก จึงอยากจะเป็นแบบอาจารย์เหล่านั้นมาก ซึ่งด้วยความที่คุณพ่อไม่อยากให้ลูกเรียนศิลปะ บางทีก็ทำให้เขารู้สึกไม่เข้าใจ รวมถึงยังเคยติเตียนในใจว่า คุณพ่อชอบแกะสลัก แถมเติบโตมาท่ามกลางงานศิลปะ เพราะคุณปู่เองก็เป็นช่างปั้นและช่างแกะสลัก แต่ทำไมคุณพ่อกลับไม่เดินทางสายนี้ กลับหันไปค้าขาย
ส่วนเขาเองอยากสืบต่องานจากบรรพบุรุษ แม้คุณพ่อจะห้าม สุดท้ายก็ดึงดันจนสามารถเรียนศิลปะที่กรุงเทพฯ ได้ แต่ก็ใช่จะสบาย เพราะแต่ละก้าวบนเส้นทางนี้ก็มีอุปสรรคมากมาย เพราะไม่รู้จัก ใคร ไม่ค่อยมีญาติพี่น้องที่กรุงเทพฯ จะไปอาศัยวัด อยู่ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีคนรู้จักฝากเข้าไป จึงต้องเช่า อพาร์ตเมนต์อยู่ อะไร ๆ ก็ต้องใช้เงินทั้งหมด แต่ก็ยังใจ แข็ง ซึ่งเขาเองก็ไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากใคร ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่คุณพ่อ แต่ก็มีพี่ชายที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ คอยให้การช่วยเหลือเป็นระยะ ๆ
“ตอนนั้นอาศัยเขียนภาพขายหารายได้ ส่งตามแกลลอรี่ต่าง ๆ เพื่อขายให้ชาวต่างชาติ แม้ไม่ใช่เงินที่เยอะ แต่เป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะการต้องดิ้นรน เลี้ยงตัวด้วยการวาดภาพทำให้ได้ฝึกฝีมืออยู่เสมอ จนจากเด็กที่ไม่ได้เก่งที่สุดในห้อง แต่ก็ได้รับคำชมจากอาจารย์ที่สอนว่าเป็นคนหนึ่งที่มีพัฒนาการดีที่สุด” เขากล่าวเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้ม
ต่อมาในปี 2536 เขาก็เรียนจบปริญญาตรี และ ได้ใช้ชีวิตศิลปินอิสระอยู่ 1 ปี เพื่อเขียนภาพและแสดงผลงาน แต่สุดท้ายก็ ทนการรบเร้าจากคุณพ่อที่อยากจะให้ลูก ๆ รับราชการไม่ได้ ที่สุดจึงตัดสินใจสอบรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ โดยเริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำในภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เมื่อปี 2538 เพราะคิดว่าแม้เป็นครู แต่ก็ยังสามารถวาดรูปได้ เรียกว่า “วินวิน” ทั้งฝันของตัวเอง และฝันของคุณพ่อ และกับ “อาชีพครู” นี้ เขาบอกว่า เป็นสุขอย่างยิ่งที่ได้ทำอาชีพนี้
“ผมมองว่าการสร้างคนก็เป็นเสมือนกับการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่ง ถ้าหากคุณเป็นดอกบัวพันธุ์แท้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนคุณก็สามารถเบ่งบาน ส่งกลิ่นหอมได้ทุกที่เช่นกัน” เป็นแนวคิดของเขา ที่ผนวกวิชาชีพครูเข้ากับการทำงานศิลปะ
ในส่วนของการสร้างสรรค์ผลงาน แม้จะต้องสอนหนังสือ สอนเด็ก ๆ แต่เขาเองก็ไม่หยุดที่จะผลิตผลงานของตนขึ้น อาทิ ผลงาน “ครุฑ” ที่สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งเขาเล่าว่าสร้าง สรรค์ขึ้นระหว่างเรียนปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ (MFA) ที่มหา วิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และต่อเนื่องมาถึงช่วงที่เรียนระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ด้วยความที่สนใจในเรื่องของสัตว์หิมพานต์ และประทับใจในพญาครุฑมากเป็นพิเศษ เพราะมองว่าเป็นสัตว์เทพที่มีพละกำลัง มีลักษณะพิเศษที่โดดเด่น จึงได้นำมาพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบ “ครุฑสไตล์อาจารย์สุวัฒน์” ในปัจจุบัน
“องค์ครุฑของผมจะแตกต่างจากของครูช่างสมัยโบราณ คือผมจะใส่กล้ามเนื้อลงไป แต่ ของดั้งเดิมส่วนใหญ่จะเน้นที่ความสวยงาม โดยผลงานชื่อ “ครุฑพราวรุ้ง” ของผมได้จัด นิทรรศการพราวรุ้งแห่งโพธิญาณ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นครุฑสีรุ้งที่สร้างสรรค์ขึ้น ทีนี้ตอนทำเสร็จก็อยากลองปั้น พอปั้นเสร็จก็ลองทำเป็นเหรียญออกมา พอมีหลายคนมาเห็นเข้าก็อยากได้ จึงจัดทำขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อให้ได้สะสมกัน โดยเหรียญครุฑนี้ได้นิมนต์ หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต วัดเขาตาเงาะอุดมพร อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ มาอธิษฐานจิตให้ เหรียญนี้จึงถึงพร้อมด้วยพุทธคุณและพุทธศิลป์”
อาจารย์สุวัฒน์เล่าเท้าความถึงที่มาของเหรียญครุฑที่เคยจัดทำขึ้นดังกล่าวนี้ พร้อมออกตัวว่า คนส่วนใหญ่นั้นจะรู้จักและคุ้นตากับผลงานที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมากกว่าตัวศิลปิน เพราะส่วนใหญ่ไม่อยากจะออกหน้าออกตา แต่อยากทำงานมากกว่า
สำหรับ “แนวคิดชีวิต” นั้น เขากล่าวว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น มี 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ 1. ต้องมีไอคิวและอีคิว คือต้องมีสติปัญญา และมีศิลปะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น 2.ต้องมีทุน โดยทุนในที่นี้ไม่ใช่เงินอย่างเดียว แต่เป็นทุนชีวิตของตนเอง ซึ่งการศึกษา การฝึกฝนฝีมือให้ดี การรู้จักพัฒนาตัวเองโดยไม่หยุดนิ่ง เป็นวิธีสร้างทุนในส่วนนี้ 3.ต้องมีวิสัยทัศน์ คือ จินตนาการ ความหวัง ความฝัน และที่สำคัญคือต้องมีปณิธานที่เข้มแข็ง รู้เป้าหมาย และรู้ถึงวิธีการในการที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ
“ทั้ง 3 ข้อเป็นปัจจัยที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จแน่นอน ซึ่งความสำเร็จนั้นก็เหมือนกับพีระมิด คือมียอด มีฐาน สำหรับผม ผมยังอยู่แค่ช่วงกลางพีระมิด ยังไปไม่ถึงยอด แต่เราก็ไม่ต้องไปเร่งหรอกนะ ค่อย ๆ เดิน มีสมาธิกับสิ่งที่ทำดีกว่า เพราะถึงเวลา ถ้าเราไม่ทิ้งฝัน ไม่ทิ้งความมุ่งมั่น สักวันเราก็คงถึงยอดพีระมิดได้ ที่สำคัญ ผมได้น้อมนำหลักคำสอนของ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องความเพียรมาปรับใช้ในการใช้ชีวิต ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าคำสอนของพระองค์ท่านเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะพาเราไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้อย่างแน่นอน” อาจารย์สุวัฒน์กล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน
นอกจากสอนหนังสือ อาจารย์ สุวัฒน์ยังเปิดแกลลอรี่ส่วนตัวชื่อ “เรือนศิลป์แสนขัติยรัตน์” อยู่ที่ ถนนเลียบคลอง 11 ต.หนองสามวัง อ.หนอง เสือ จ.ปทุมธานี เพื่อจัดแสดงผลงาน และใช้เป็นสถานที่ฝึกงานให้แก่นักศึกษาที่สนใจด้วย และเมื่อมีเวลาว่างจากงานประจำก็มักจะทุ่มใจให้กับงานการกุศลต่าง ๆ เช่น เคยนำผลงานชื่อ “ครุฑในป่าหิมพานต์” ไปติดตั้งที่ไร่เชิญตะวัน ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) หรือออกแบบภาพวาดลายเส้นนำไปจัดทำเสื้อที่ระลึก เพื่อจำหน่ายหารายได้ร่วมสมทบทุนสร้างอาคารปฏิบัติธรรมพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ที่วัดซับยี่หร่า ต.วังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี อย่างไรก็ดี เขาได้เน้นย้ำว่า ความสำเร็จของมนุษย์นั้น แค่ตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นนักวางแผนชีวิต ด้วย…
“คนเรานั้นควรต้องมีแผนชีวิตทั้ง 365 วันว่าชีวิตนี้จะทำอะไรบ้าง แล้วก็แค่เดินไปตามที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ต้องมองโลกแบบบวก ๆ ด้วย เพราะชีวิตจริงนั้นไม่มีทางที่เราจะทำได้ดั่งใจทุก ๆ เรื่องหรอก โดยในเมื่อเราควบคุมโลกไม่ได้…
ดังนั้น เราก็ต้องรู้จักโลกให้เป็น”.
“แค่ตั้งใจอย่างเดียวไม่พอต้องเป็นนักวางแผนชีวิต”
บรรยายใต้ภาพ
หนึ่งในผลงาน “ครุฑ” ของ อ.สุวัฒน์
กับครุฑองค์ที่นำไปติดตั้งที่ไร่เชิญตะวัน
นำผลงานไปโชว์ร่วมกับศิลปิน 8 ชาติ ที่โตเกียว
“อินเดียมุง” ขณะนั่งวาดภาพที่ถ้ำอชันตา
ขณะกำลังสร้างสรรค์ผลงานอีกหนึ่งชิ้น
ภาพวาดที่วาดขึ้นคารวะ อ.ถวัลย์ ดัชนี

C-170115004091

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]