ปฏิทิน ๒๐๑๗ จรัสแสงในความมืด STARS CAN’T SHINE WITHOUT DARKNESS เป็นปฏิทินขาวดำในมิติแปลกใหม่เมื่อฟ้ายังไม่สิ้นแสงที่ถ่ายทำผู้ต้องขังหญิงแสดงโยคะได้อย่างสวยงามภายในเรือนจำกลางอุดรธานีที่เรียกว่าเป็นเขตอันตรายห้ามเข้า ภายในกำแพงที่เต็มไปด้วยรั้วลวดหนาม นำเสนอสู่สายตาสาธารณชน ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย เล่าถึงเบื้องหลังปฏิทินแห่งประวัติศาสตร์ของเรือนจำว่า เริ่มคิดขึ้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังไม่เสด็จสวรรคต โดยผู้ต้องขังหญิงที่เล่นโยคะอยากมีปฏิทินแสดงผลงานให้ปรากฏมาเป็นเวลานานแล้ว และเมื่อวันเวลาผ่านไป ๕ ปีที่มีการฝึกฝนโยคะ ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้สามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขั้นเทพนับได้จำนวนร้อยคน ในที่สุดก็เลือกสถานที่ถ่ายทำในเรือนจำกลางอุดรธานีตั้งแต่นายประมูล ประเสริฐสุข ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานียังไม่เกษียณอายุ เป็นการทำงานถ่ายภาพปฏิทิน ต่อมานางเพียงใจ แสงวิจิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานีคนปัจจุบันได้เข้ามาสานต่องานและทำสารคดีภาพเคลื่อนไหวควบคู่กันไปด้วย
“สารคดีเรื่องจรัสแสงในความมืด SHINE IN DARKNESS ชื่อเดียวกับปฏิทินสามารถเปิดดูได้จาก You Tube เพราะเราต้องการเผยแพร่โยคะในเรือนจำออกสู่สาธารณชน คนเหล่านี้ยากจนไม่ได้เรียนสูง ไม่เข้าใจกฎหมาย คนเหล่านี้เลือกเกิดไม่ได้ บางคนถูกกระทำ ถูกหลอกให้หลงเชื่อ กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต ทุกสิ่งสัมผัสได้จากบทสัมภาษณ์ คนกลุ่มนี้มีความเพียร ความพยายาม มีวินัย บางคนมีปัญหาครอบครัวอยู่กับใครก็ไม่ได้ ไม่มีใครรักใครชอบ ครูก็สอนสั่งว่าถ้าอยากจะเล่นโยคะต้องทำตัวให้เพื่อนๆ ยอมรับ เด็กเจ้าปัญหาก็ยกมือไหว้ขอโทษเพื่อนๆ และสัญญาว่าจะปรับตัว เด็กคนนี้สามารถทำท่าโยคะยากๆ ได้อย่างที่เรียกว่ามหัศจรรย์จริงๆ บางคนมีความสามารถพิเศษวาดรูปเป็นลายเส้นได้เก่งมากเหมือนกับเด็กเรียนสถาปัตย์ วาดรูปกังหัน รวงข้าวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ผศ.ธีรวัลย์เปิดเผยว่า การที่เข้ามาเป็นครูสอนโยคะเป็นเวลา ๕ ปีให้ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ เป็นการสร้างมิติใหม่แห่งความสุขในโลกหลังกำแพงที่มีประตูเหล็กแผ่นใหญ่ปิดสนิทล้อมรอบไปด้วยรั้วลวดหนาม ทำให้รับรู้ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ เด็กบางคนเกิดมาพ่อแม่ไม่อยากได้ ส่งไปให้อยู่กับยาย มีปัญหาการคบเพื่อนถูกชักชวนให้ค้ายาและเสพยา วันหนึ่งพลาดเจอข้อหาค้ายาเสพติดต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เขาก็สมัครเข้ามาฝึกฝนโยคะ “ก็สอนทุกคนให้รู้จักคุณค่าของตัวเอง ตราบใดที่ยังมีลมหายใจเราต้องทำได้ โชว์ความสามารถให้ทุกคนรู้ว่าเรามีคุณค่า ครอบครัว พ่อแม่และอนาคตยังรออยู่ อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลมหายใจ อยู่อย่างมีความสุข อย่าไปกังวลใจ ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองตั้งใจและทำให้ได้”
ข้อความในปฏิทินนำเสนอว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการกำลังใจเรือนจำกลางราชบุรี และโครงการกำลังใจเรือนจำกลางอุดรธานี ดำเนินโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงภายใต้บริบทของเรือนจำในสังคมไทย ใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรือนจำผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ การนำร่องการพัฒนาระบบสุขภาพในเรือนจำ การสร้างแหล่งอาหารและการใช้สมุนไพรในเรือนจำ โยคะในเรือนจำ การส่งเสริมการทำงานเพื่อพัฒนาพลังสร้างสรรค์ เพิ่มทักษะ รายได้ การเชื่อมโยงผู้ต้องขังกับโลกภายนอก และการเปิดพื้นที่ของเรือนจำออกสู่สังคม
เรือนจำเป็นรูปแบบการลงโทษที่นำผู้กระทำความผิดทางอาญามากักขังไว้ ผู้ถูกลงโทษถูกสังคมนิยามว่าเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย เป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ เป็นผู้ที่เป็นอันตรายต่อสังคม ระบบเรือนจำใช้วิธีการควบคุมแบบเข้มงวด บังคับให้ผู้ต้องขังทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวันตามตารางเวลาและตามคำสั่งของผู้คุม ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ ระบบของเรือนจำสร้างวัฒนธรรมแห่งความเงียบและความกลัวขึ้นมา แนวโน้มของผู้ต้องขังจะเก็บปัญหาต่างๆ ไว้กับตัวเอง สร้างบรรยากาศแห่งความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดให้กับผู้ต้องขังเกินกว่าที่สาธารณชนจะเข้าใจได้ ผู้ต้องขังสูญเสียอิสรภาพในการใช้ชีวิตกับครอบครัวและการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแบบคนทั่วไป ระบบของเรือนจำสามารถควบคุมผู้ต้องขังในระดับของจิตวิญญาณ ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไร้อำนาจ และปล่อยตัวเองไปตามยถากรรม ไม่ดูแลตนเอง
โยคะในเรือนจำเป็นกิจกรรมหนึ่งที่โครงการจัดให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพที่ดี มีจิตใจสงบ มีกำลังใจ มีพลังชีวิต ช่วยให้ผู้ต้องขังรู้จักดูแลตนเองภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีข้อจำกัดหลายๆ ด้าน การฝึกโยคะช่วยให้คนตระหนักในความเป็นไปได้ที่จะดูแลตนเอง ไม่ปล่อยตัวเองเป็นไปตามยถากรรม การดูแลตนเองเกิดขึ้นในระดับร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ นับตั้งแต่การรู้จักดูแลร่างกายให้แข็งแรง การขจัดความเครียด การสร้างตัวตนขึ้นมาจากการกระทำ ความสุข และความพึงพอใจ
การแสดงโยคะในท่าต่างๆ เป็นภาพงดงาม สะท้อนให้เห็นถึงความสุข ความภาคภูมิใจ ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ภายในรั้วลวดหนามซึ่งกั้นผู้อยู่ภายในออกจากโลกภายนอก ในบรรยากาศความทุกข์ ความเศร้า ความอ้างว้าง การรอคอย ความอาลัยอาวรณ์ถึงบุคคลอันเป็นที่รักและห่วงใย ยังมีผู้ที่สามารถก้าวข้ามโศกนาฏกรรมในชีวิต สามารถเข้าถึงความสงบทางด้านจิตใจ ความแข็งแกร่งทางด้านร่างกายและความรื่นรมย์เบิกบานของชีวิต ไม่ต่างจากดวงดาวที่เจิดจรัสแสงอยู่ในคืนอันมืดมิด
แต่ละเดือนในปฏิทินนำถ้อยคำที่มีคุณค่ามาบอกเล่าถึงความรู้สึกของผู้ต้องขังหญิง… เดือน ม.ค. “ชีวิตนั้นพบได้ในปัจจุบันขณะเท่านั้น อดีตได้ผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง ถ้าเราไม่กลับมาสู่ตัวเองในปัจจุบันขณะ เราจะไม่มีวันได้สื่อสารกับชีวิตของเรา” ติช นัท ฮันห์ เดือน ก.พ. “ไม่สำคัญว่าเราได้ทำไปมากเพียงใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราใส่ความรักลงไปในสิ่งที่เราทำมากแค่ไหน ไม่สำคัญว่าเราได้ให้ไปมากเพียงใด แต่อยู่ที่ว่าเราใส่ความรักลงไปในสิ่งที่เราให้มากแค่ไหน” แม่ชีเทเรซา เดือน มี.ค. “ไกลออกไปภายใต้แสงอาทิตย์คือความปรารถนาอันแรงกล้าของฉัน ฉันอาจเอื้อมไปไม่ถึงมัน แต่ฉันสามารถมองขึ้นไปและเห็นความงามของมัน เชื่อและพยายามก้าวตามไปยังที่ที่มันนำไป” หลุยซา เมย์ อัลคอตต์ เดือน เม.ย. “สายใยที่เชื่อมโยงครอบครัวที่แท้จริงไม่ใช่สายเลือด แต่เป็นความเคารพและความสุขสดชื่นที่ต่างคนมีให้กันและกัน” ริชาร์ด แบช
เดือน พ.ค. “โยคะช่วยให้ท่านพบความสงบภายในซึ่งจะไม่ถูกทำให้ยุ่งเหยิงและขุ่นเคืองจากความเครียดและการต่อสู้อันไม่มีที่สิ้นสุดของชีวิต” ไอเยนการ์ เดือน มิ.ย. “โยคะเป็นหนทางสู่อิสรภาพ หากฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เราสามารถจะปลดปล่อยตัวเองจากความกลัว ความทุกข์ทรมาน และความอ้างว้าง” อินทรา เทวี เดือน ก.ค. “ฉันพบความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เมื่อฉันได้พ้นโทษออกไป ฉันอยากเป็นครูโยคะเพื่อสอนให้คนอื่นได้ค้นพบความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเหมือนกับที่ฉันได้ประสบกับตัวเอง” ผู้ต้องขังหญิง
เดือน ส.ค. “ทุกครั้งที่แม่มาเยี่ยมฉัน แม่จะพูดเสมอว่า อย่าดื้อนะลูก แล้วก็อย่าท้อ อย่าคิดถึงอดีต ทุกๆ คนรอวันที่ลูกจะกลับไปอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง” ผู้ต้องขังหญิง เดือน ก.ย. “เกียรติยศของชีวิตไม่ได้อยู่ที่การไม่เคยล้มลง แต่หมายถึงการลุกขึ้นได้ทุกครั้งที่ล้มลง” เนลสัน แมนเดลา เดือน ต.ค. “ความเข้มแข็งไม่ได้มาจากชัยชนะ การต่อสู้ดิ้นรนสร้างความเข้มแข็งเมื่อท่านเผชิญกับความทุกข์ยากและตัดสินใจที่จะไม่ยอมแพ้ นั่นคือความเข้มแข็ง” มหาตมะ คานธี
เดือน พ.ย. “เมื่อเราพบกับโศกนาฏกรรมในชีวิต เราทำได้สองอย่างคือ การสูญเสียความหวังและสร้างนิสัยที่ทำอันตรายแก่ตัวเอง หรือจะใช้ความท้าทายนั้นเพื่อค้นพบความเข้มแข็งภายในตนเอง” เดือน ธ.ค. “ความหวังเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันบรรเทาความยากลำบากในปัจจุบัน ถ้าเราเชื่อว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น เราจะสามารถแบกรับความยากลำบากในวันนี้ได้” ติช นัท ฮันห์ สถานที่และผู้แสดงโยคะ: เรือนจำกลางอุดรธานี และผู้ต้องขังหญิง หัวหน้าโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย: ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย ออกแบบ: กฤติน วิจิตรไตรธรรม ถ่ายภาพ: ณพงศ์ปกรณ์ ผลินยศ
กิจกรรมโยคะในเรือนจำเข้ามาเติมเต็มชีวิตที่เคยว่างเปล่าให้เหล่าผู้ต้องขังหญิงร่วมกับโครงการกำลังใจเรือนจำกลางราชบุรี และโครงการกำลังใจเรือนจำกลางอุดรธานี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติตัว การจัดการตนเองเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ ยอมรับผลของการกระทำของตนเองและผลการพิจารณาคดี เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองภายใต้บรรยากาศแห่งความทุกข์ยากและไร้อิสรภาพ ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงโยคะที่ยอดเยี่ยมอย่างที่เรียกว่าคนที่มีอิสรภาพภายนอกยังทำไม่ได้ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการมีส่วนร่วมกิจกรรมติดต่อได้ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ๓๙ หมู่ที่ ๑ ถนนรังสิต-นครนายก (คลองหก) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๑๐ หรือสอบถาม ๐-๒๕๔๙-๔๗๗๑.