แม้ทั้งภาครัฐและเอกชนจะเห็นความสำคัญของ “โซลาร์ฟาร์ม” ตัวช่วยที่จะมาทดแทนการผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่ดูเหมือนว่า โซลาร์ฟาร์มจะยังอยู่ในช่วงวิกฤติ เพราะขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้เฉพาะด้านมากกว่า 1 หมื่นคน
ทางออกที่น่าจะดีสุดในชั่วโมงนี้ คือ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เร่งผลิตคนออกมารองรับ ทั้งหลักสูตรระยะยาวและระยะสั้น หรือจะเรียกว่าหลักสูตรช็อตคัตก็ได้ที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรมสุด น่าจะเป็นความร่วมมือที่เกิดจาก Lekise Group, Metlink Info, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันการอาชีวศึกษารัฐ เอกชนอีกกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกันเปิดหลักสูตร “วิชาพลังงานทดแทน” (พลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อผลิตแรงงานจากนักเรียน นักศึกษาของ สถาบันการอาชีวศึกษา ทั้งในระดับ ปวช., ปวส., และปริญญาตรี ผ่านหลักสูตร “วิชาพลังงานทดแทน” (พลังงานแสงอาทิตย์) ขณะเดียวกันก็เปิดหลักสูตรระยะสั้น 26 ชั่วโมง ให้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้ว่างงาน ทหารปลดประจำการ เรียนรู้หลักสูตรติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การดูแลรักษา ซ่อมบำรุง เพื่อรองรับปัญหาความต้องการแรงงานช่างติดตั้ง บริการหลังการขาย เซอร์วิสบริการให้ความรู้ โดยจะเริ่มเปิดรับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป
“การบรรจุให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนระยะยาว ยังคงมีขึ้นทั้งในระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรี ถือเป็นแนวทางรองรับนโยบายในอนาคต และเชื่อว่าจะสามารถผลิตคนได้เพียงพอกับความต้องการ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านเวลา ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเสริมทักษะให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป”
ถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยผลักดันให้แผนผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์มีตัวเลขเป็น 2,000 เม กะวัตต์ในปี 2564 ตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และลดการนำเข้าพลังงานน้ำมัน และช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการ 80-90 % ได้เลยทีเดียว