เห็นผ่านตาในนาทีแรกนึกว่าเป็นบ้านหรู “ล็อกเคบิน” เรือนล้านที่ฝรั่งเอาท่อนซุงมาซ้อนเป็นผนังบ้าน…ที่ไหนได้เดินไปดูใกล้ๆที่เห็นเป็นเหมือนท่อนซุง จริงๆแล้วทำมาจากท่อประปาพีวีซีสี ฟ้า ทาสีน้ำตาลให้ดูเหมือนไม้เท่านั้นเอง
และแน่นอนบ้านหลังนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้อยู่อาศัยถาวร แต่เป็นบ้านที่ ผศ.ดร.วชิระ แสงรัศมี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คิดประดิษฐ์ ขึ้นมาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยฉุกเฉินของผู้ประสบภัยพิบัติ ที่คว้ารางวัลผลงานสร้างสรรค์ดีเด่นจากสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ได้แนวคิดออกแบบมาจากบ้านล็อกเคบิน…เอาไม้เป็นท่อนๆมาวางซ้อนกัน การสร้างบ้านเสร็จได้เร็วกว่าก่ออิฐฉาบปูน ส่วนการเอาแผ่นกระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์มาทำเป็นผนังบ้าน แม้ จะสร้างได้เร็วก็ตาม แต่มีปัญหาเรื่องความทนทานและมีข้อด้อยในเรื่องนำมาใช้งานได้ ครั้งเดียวรื้อย้ายไปประกอบงานใช้ใหม่ได้ยาก
แต่ไม้เป็นท่อนๆนั้นหายาก ราคาแพง น้ำหนักมาก เป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาใช้งานสร้างบ้านฉุกเฉินชั่วคราว…ด้วยความรักชอบบ้านล็อกเคบินเป็นทุนเดิม ดร.วชิระ เลยต้องหันไปมองวัสดุ อย่างอื่นแทน ต้องเป็นวัสดุที่สามารถนำมาใช้ได้หลายครั้ง และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายไม่ใช่เอามาทำฝาบ้านอย่างเดียว ที่สำคัญต้องมีน้ำหนักเบา ติดตั้งได้เร็วขนย้ายสะดวก ความเสียหายหักระหว่างขนส่งมีน้อย
ในที่สุดลงตัวที่ท่อพีวีซี ที่ช่างทั่วไปนำมาใช้เป็นท่อระบายน้ำทิ้ง…กลม กลวง เบา ทนการฉีกขาด ขนส่งง่าย หาซื้อได้ทั่วไป ใช้งานเสร็จสามารถรื้อนำไปใช้ทำอย่างอื่นได้
และต้องเป็นท่อพีวีซี ขนาด 3 นิ้ว เพราะเป็นขนาดที่พอเหมาะไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
เมื่อทดลองนำมาสร้างเป็นบ้านชั่วคราว ขนาดกว้าง 1.5 ม. ยาว 1.5 ม. อยู่อาศัยได้ 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ต้นทุนอยู่ที่ 60,000 บาท ติดตั้งด้วยแรงงาน 2 คน ใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งวันเท่านั้นเอง
บ้านขนาดกว้าง 2.4 ม. ยาว 3 ม. มี 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ อยู่ได้ประมาณ 5 คนต้นทุนอยู่ ที่ 1 แสนบาท ใช้เวลาในการประกอบเพียง 1 วันด้วยแรงงาน 2 คน
ส่วนวิธีการก่อสร้างบ้านท่อนซุงเทียม ทำกันแบบไหน มาว่ากันต่อในคราวหน้าค่ะ