
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560
ลักษณ์ วุฒิศักดิ์
“น้ำมันจระเข้-สารสกัดว่านตาลเดี่ยว” เป็นสินค้าเรือธง (flagship) ในปีนี้ของ “ซีดีไอพี” ธุรกิจไซส์เอสเอ็มอีให้บริการรับจ้างวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อ สุขภาพ ควบคู่ไปกับปฏิบัติการระดมทุนโดยเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ด้วยผลกำไรทะลุหลักร้อยล้านบาท ในเวลาเพียง 3 ปีจากเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
“หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ การเข้ามาอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งแวดล้อมด้วยนักวิจัยที่คอยเติมเชื้อไฟความคิดสร้างสรรค์ไม่ให้ดับมอด รวมทั้ง การเข้าถึงอุปกรณ์ราคาหลายสิบล้านบาท โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเองและการเข้าถึง แหล่งทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีในรูปแบบ ต่างๆ” นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ผู้อำนวยการ ส่วนงานนวัตกรรม บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานทาเลนท์ โมบิลิตี้ฟอร์ฟู้ดอินโนโพลิส
ทฤษฎีความสำเร็จของซีดีไอพี
ซีดีไอพีเข้าไปอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อปี 2553 มีพื้นที่กว่า 350 ตารางเมตรเป็นแล็บ โรงงานต้นแบบและสำนักงาน ให้บริการครบวงจรตั้งแต่รับพัฒนาสูตรใหม่ วัตถุดิบใหม่ และเทคโนโลยีการนำสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ใหม่ๆ จดทะเบียน อย. จดสิทธิบัตร ออกแบบบรรจุภัณฑ์และรับจ้างผลิต
ปัจจัยความสำเร็จของบริษัท นอกจากอยู่ท่ามกลางระบบนิเวศของงานวิจัยแล้ว นายสิทธิชัยยังให้ความสำคัญกับทฤษฎีด้าน นวัตกรรมที่อาศัยความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม (university- industry collaboration) มหาวิทยาลัย มีนักวิจัยคุณภาพรวมทั้งได้รับทุนจากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนการคิดค้นวิจัยพัฒนาและพิสูจน์ยืนยันคุณภาพงานวิจัยนั้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็มีโจทย์วิจัยที่สามารถส่งต่อให้ทางมหาวิทยาลัยนำไปวิจัยพัฒนาต่อยอดได้ “ผมจึงนำโจทย์จากโรงงานไปปรึกษาอาจารย์ หรือไปหาเพื่อนรุ่นน้องให้ช่วย ทำวิจัย ทำให้ผมมีสูตรสินค้าใหม่ๆ ได้ตลอด ยกตัวอย่าง สารสกัดว่านตาลเดี่ยวสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ก็ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี”
สิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารให้เข้าใจ ตรงกันเพราะภาคอุตสาหกรรมจะคำนึงถึง ผลกำไรขาดทุน เครื่องจักร กระบวนการ ผลิตและกำลังการผลิต ขณะที่อาจารย์จะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับ ผลงานวิจัยตีพิมพ์ ส่วนนักการตลาดก็จะมุ่งเรื่องการ ตลาด การเข้าถึงผู้บริโภค การรับรู้ ในผลิตภัณฑ์ ด้าน อย.จะมองในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ หากสามารถเชื่อมโยงทั้ง 4 องค์ประกอบนี้สำเร็จ บริษัทก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดได้สำเร็จ “อยากได้งานวิจัยก็ต้องเดินเข้าหาสถาบันวิจัย แล้วก็จะเดินหาลูกค้า เมื่อเรารู้ความต้องการลูกค้า รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร รู้ว่านักวิจัยมีอะไรบ้าง สุดท้ายที่สำคัญสุดก็คือ อย. หากไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนก็ตกม้าตายได้ แม้จะเป็นโปรเจคที่เจ๋งๆ พัฒนาโดยนักวิจัยฝีมือดีที่สุดก็ตาม”
เตือนนักวิจัยอยากเป็นนักธุรกิจ
นายสิทธิชัยมีคำแนะนำสำหรับอาจารย์ที่อยากจะนำผลงานวิจัยออกมาทำการตลาดว่า อยากให้มองภาพรวมให้ครบ ต้นน้ำคือ การวิจัยพัฒนา กลางน้ำคือการทดลองผลิตระดับไพรอตสเกลเพื่อประเมินว่าจะสามารถผลิตระดับอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ขึ้นทะเบียน อย.ได้หรือไม่ จะขายผ่าน ช่องทางใดบ้าง
ที่ผ่านมานักวิจัยหลายคนมองแค่ว่าจะนำงานวิจัยมาผลิต สร้างแบรนด์และจำหน่ายเอง จะทำทุกอย่างด้วยตนเอง จึงอยากให้วิเคราะห์ว่า คุณมีความเชี่ยวชาญด้านใดแล้วก็ควรมุ่งไปด้านนั้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องการทำงานวิจัย อันดับแรกต้องมีโจทย์ชัดเจนว่างานวิจัยที่ต้องการจะทำคืออะไร แล้วลงมือติดต่อสถาบันวิจัย ที่รู้จัก รัฐบาลมีเงินทุนสนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ ทั้งเงินให้เปล่า เงินสนับสนุนการทำวิจัย เงินกู้สร้างโรงงานหรือทำนวัตกรรม การส่งนักวิจัยช่วยงานในโรงงาน
“อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการไม่อ่านหนังสือ ไม่สนใจขวนขวายหาข้อมูล หลายคนจึงมักบอกว่ารัฐบาลไม่สนับสนุน อะไรเลย ผมขอเถียงเพราะว่าผมใช้เกือบทุกการสนับสนุนของรัฐบาลที่มีให้กับ เอสเอ็มอี” นายสิทธิชัยกล่าว