
คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2560
ว่ากันว่า สาเหตุที่ 13 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลลาออกแต่ผู้บริหารก็ตั้งมารักษาการในตำแหน่งเดิมอีก ไม่ได้เป็นการประท้วง ป.ป.ช. ที่กำหนดให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินภายในวันที่ 3 เมษายน-2 พฤษภาคม แต่เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะระเบียบ ป.ป.ช.กำหนดเพิ่มเติมภายหลังที่รับตำแหน่งไปแล้วและประกาศล่วงหน้ามาไม่กี่วัน อาจจะทำให้หลายคนไม่พร้อม…
แต่อีกมุมหนึ่งก็คือ ในช่วงที่รองอธิการบดีดำรงตำแหน่ง “รักษาการ” ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ “จะได้มีเวลาเตรียมตัว” จัดระเบียบทรัพย์สินหากต้องมาดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีสมัยหน้าเพราะตำแหน่งรองอธิการบดีนั้น อธิการบดีเป็นผู้เสนอชื่อให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติแต่งตั้ง อำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามหน้าที่ที่อธิการบดีมอบหมายและพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับอธิการบดี
ว่ากันว่า ปัจจุบันมีรองอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ ประมาณ 564 คน 84 มหาวิทยาลัย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้แสดงบัญชีทรัพย์สินภายในวันที่ 3 เมษายน-2 พฤษภาคม 2560 ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
การที่ ป.ป.ช.มีกำหนดให้ยื่นแสดงบัญชีเพิ่มเติมจากที่ไม่เคยมีมาก่อนนั้น มีความหมายอย่างไร ตรงนี้ต้องติดตามกัน..เพราะการแก้ไขครั้งนี้เพิ่มมาอีก 447 ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น ระดับปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และผู้อำนวยการสำนักช่าง รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง
“ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อธิบายว่า การที่รองอธิการบดี 13 คน ลาออกเป็นอำนาจการตัดสินของแต่ละบุคคลที่ไม่สามารถก้าวล่วงได้ อยากให้มองเป็นเรื่องของสิทธิ ป.ป.ช.มีสิทธิที่จะตรวจสอบ แต่เมื่อคนบางส่วนมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่ทันได้ตั้งตัว หรือไม่สบายใจ ก็ขอลาออก ก็เป็นสิทธิไม่สามารถบังคับกันได้ แต่ในเบื้องต้นได้มีการขอร้องให้คณาจารย์ที่ลาออกยังคงตำแหน่งรักษาการไว้ก่อน เพื่อให้งานบริหารยังสามารถเดินต่อไปได้ และไม่แน่ว่าจะมีผู้มาทำงานแทนตำแหน่งรองอธิการบดีที่ว่างได้หรือไม่ เพราะเหลือวาระงานอีกแค่ปีครึ่งเท่านั้นก็จะต้องเลือกคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว
“รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย”อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) อธิบายว่า การแสดงบัญชีทรัพย์สินต้องยื่นก่อนเข้ารับตำแหน่ง 1 ครั้ง และหลังพ้นจากตำแหน่งอีก 1 ครั้ง ในส่วนของ มร.สส.มีรองอธิการบดี 6 คน ก็อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารในการแสดงบัญชีทรัพย์สินตามที่ ป.ป.ช.ระบุ
“การยื่นบัญชีแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหน้าที่เฉพาะของผู้มีหน้าที่ และไม่น่า จะมีปัญหาอะไร ในส่วนของรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พร้อมให้ ความร่วมมือ ป.ป.ช. แม้ว่าจะเป็นเรื่องใหม่เป็นครั้งแรกที่ดำเนินการก็ตาม แต่การแสดงบัญชีทรัพย์สินก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าก่อนและหลังดำรงตำแหน่งเป็นอย่างไร เพื่อความบริสุทธิ์ใจ และง่ายต่อการตรวจสอบ” อธิการบดี มร.สส. กล่าว
ขณะที่ “ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด” 1 ใน 8 รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน บอกว่า อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารเพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการสมาคมโพลีเมอร์ ซึ่งทรัพย์สินมี บ้าน รถ ที่ผ่อนหมดแล้ว และมีคู่สมรส รายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน ค่าทำงานวิจัย และอื่นๆ ที่เป็นรายได้จากมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ซึ่งพร้อมจะแสดงบัญชีทรัพย์สินตามระยะเวลาที่ ป.ป.ช.กำหนด
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า รองอธิการดีทั้ง 13 คนที่ได้ยื่นใบลาออกไป พ้นตำแหน่งก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา จึงทำให้ไม่เข้าข่ายที่ ต้องยื่นบัญชี ที่ผ่านมาป.ป.ช.รับเรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับอธิการบดี และรองอธิการบดี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. 311 เรื่อง แบ่งเป็นชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง 259 เรื่อง ไต่สวน 16 เรื่อง ซึ่งประกาศล่าสุดจะมีรองอธิบดีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน 564 คน จาก 84 มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดเพิ่มตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.อีกกี่ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามการแสดงบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวควรเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยหรือไม่ “ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ” ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เสนอว่า การเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อประชาคมได้ช่วยกันตรวจสอบและหากมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ น่าจะเป็นอีกช่องทางการตรวจสอบและโปร่งใส …
C-170405014022