แคมป์’ตบลูกขนไก่’ควบคู่’วิทย์กีฬา’ รากฐานสู่ความสำเร็จ’เอสซีจี อคาเดมี’

มติชน ฉบับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560
“เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี” เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงได้ตั้งชื่อศูนย์แห่งนี้ว่า “ศูนย์ฝึกแบดมินตันและวิทยาศาสตร์การกีฬา” ซึ่งดำเนินการควบคู่กัน 2 ส่วนคือ 1.ส่วนพัฒนาทักษะแบดมินตัน และ 2.ส่วนพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬา
รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับประเทศ ได้เข้ามาช่วยวางแผนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาให้ และรวบรวมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาหัวกะทิของประเทศเข้ามาร่วมกันพัฒนาศูนย์ฝึกแห่งนี้
อาจารย์มาโนช บุตรเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกาย และการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย และจัดโปรแกรมการฝึกซ้อมให้นักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งเป็นลูกศิษย์ รศ.เจริญ ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา และช่วยดูแลเอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี ตั้งแต่เมื่อปี 2558
อาจารย์มาโนชระบุว่า วิทยาศาสตร์การกีฬามีนับสิบสาขา แต่สาขาที่มีบทบาทสำคัญกับการพัฒนานักกีฬามีเพียงไม่กี่สาขา และก็ได้นำสาขาหลักของวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาพัฒนานักกีฬาเอสซีจีอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย
1.สรีรวิทยาการออกกำลังกาย และการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย ซึ่งมี รศ.เจริญ และอาจารย์มาโนช ดูแลในด้านนี้ที่มีบทบาทโดยตรงต่อการจัดโปรแกรมการฝึกซ้อมนักกีฬา เนื่องจากเป็นเรื่องของฟิตเนส และรูปร่าง ที่เชื่อมโยงต่อการเคลื่อนที่ในการตีแบดมินตันให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด
2.จิตวิทยาทางการกีฬา มี ผศ.ดร.สืบสาย บุญวีรบุตร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ม.บูรพา และ ดร.อาพรรณชนิต ศิริแพทย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มศว ประสานมิตร เข้ามาดูแล
3.โภชนาการทางการกีฬา จะมี น.ส.อรวรรณ พึ่งคำ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กำหนดเมนูอาหารหลักครบ 3 มื้อให้นักกีฬาในแต่ละวัน พร้อมตรวจวัดองค์ประกอบของร่างกายจากความต้านทานไฟฟ้า, วัดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย และวัดเปอร์เซ็นต์มวลกล้ามเนื้อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และเซตเมนูอาหารให้เหมาะสมกับแต่ละคนแตกต่างกันไป
4.เวชศาสตร์ทางการกีฬา และกายภาพทางการกีฬา ซึ่งหากบาดเจ็บหนักก็จะส่งเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ขณะที่ภายในศูนย์ฝึกจะมีการนวดกายภาพบำบัดภายรวมทั้งยังมีการทำวารีบำบัดด้วยการลงแช่บ่อน้ำร้อน 43 องศา
เซลเซียส สลับกับการแช่บ่อน้ำเย็น 12 องศาเซลเซียส
5.ชีวกลศาสตร์ทางการกีฬา มี รศ.ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการกีฬา ม.มหิดล มาดูแล ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ขั้นสูง โดยจะนำมาใช้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวร่างกาย และการตบลูกของนักกีฬาอย่างละเอียด
ชีวกลศาสตร์การกีฬาจะนำมาใช้ในกรณีสำคัญเท่านั้น อาทิ วิเคราะห์การเคลื่อนไหว และการตีของ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และ “เอิร์ธ” พุธิตา สุภจิรกุล ในช่วงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล
สำหรับวิทยาศาสตร์การกีฬา 5 ด้านหลักนี้ ทุกด้านต่างมีความเชื่อมโยงกันหมด แต่สิ่งสำคัญคือ ด้านสรีรวิทยาจะมีบทบาทสำคัญต่อการจัดโปรแกรมการฝึกซ้อม ซึ่งก่อนจัดโปรแกรมจะทดสอบสมรรถภาพนักกีฬาทั้งหมด 4 ครั้งต่อ 1 ปี ก่อนนำผลกลับมาวิเคราะห์สมรรถภาพ ซึ่งตามเกณฑ์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จะมีผลชี้วัดแบ่งเป็น 1-4 แต่แคมป์เอสซีจีกำลังเดินหน้าพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ค่าอย่างละเอียดเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ด้วย
ส่วนโปรแกรมฝึกซ้อมจะแบ่งเป็น 2 โปรแกรมคือ 1.โปรแกรมนักกีฬาที่จะต้องแข่งขันภายใน 1-2 สัปดาห์ และ 2.โปรแกรมนักกีฬาที่ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งจะสอดคล้องกัน และพัฒนาความแข็งแรงเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ โดยความต่างของทั้ง 2 โปรแกรมจะเป็นความหนักหน่วง และคุณภาพจะแตกต่างกันออกไป
อาจารย์มาโนชกล่าวถึงการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ นักแบดมินตันประเภทคู่รูปร่างเล็กที่ผลงานกำลังดีวันดีคืนว่า ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เดชาพลเต็มที่ โดยเฉพาะการนำด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกาย และสร้างสมรรถภาพทางกาย แม้ว่ารูปร่างสรีระของบาสจะไม่ค่อยสูงมาก แต่ก็ชดเชยด้วยความแข็งแกร่ง และความรวดเร็วเข้ามาทดแทน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพความฟิตร่างกายจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ฟิตเนสดีไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแชมป์ เพราะจะต้องควบคู่กันไปทั้งด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และการพัฒนาศักยภาพ โดยอาจารย์มาโนชระบุว่า แคมป์เอสซีจีมาความพร้อมทุกอย่างด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่สิ่งสำคัญที่อยากเพิ่มเติมคือ หาวิธีการทำให้นักแบดมินตันฉลาดหลักแหลมในการแข่งขันมากขึ้น
“แชมป์สร้างได้ ส่วนสรีระขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และพฤติกรรมตั้งแต่เด็ก ทั้งการนอนที่สำคัญมากกับการเติบโต เพราะถ้านักกีฬาวินัยดีจะสามารถทำอะไรได้เยอะ รูปร่างเราเลือกไม่ได้ สูงหน่อยก็ดี แต่ก็เสียเปรียบ ได้เปรียบต่างกัน ตัวเล็กชดเชยด้วยความเร็ว แต่มุมมองการตีเสียเปรียบ ตบไม่ได้มุม ดังนั้นเรื่องวินัย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในแคมป์ เอสซีจี” อาจารย์มาโนชกล่าว
จากการนำวิทยาศาสตร์การกีฬารอบด้านเข้ามาดูแลนักกีฬาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อ 10 ปีก่อน เริ่มส่งผลให้เห็นชัดเจนแล้วว่านักกีฬาของ เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี มีสมรรถภาพร่างกายที่พร้อมสมบูรณ์เต็มที่ และพร้อมเดินหน้าสร้างความสำเร็จต่อไปในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬาที่นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาวงการกีฬาไทย…

C-170425020158

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]