
สยามรัฐ ฉบับวันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
เสกสรร สิทธาคม /เรียบเรียง อลงกรณ์ รัตตะเวทิน มทร.ธัญบุรี / ข้อมูล
มูลนิธิพระดาบส
พ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น ด้วยทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวพลาดหวังสิ่งดีๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน พระองค์พระราชทานทุนส่วนพระองค์จำนวน 5 ล้านบาทพร้อมทั้งมีพระราชดำรัสว่า
“หากนำเอาวิธีการประสิทธิ์ประสาทวิชาการของดาบสมาประยุกต์ใช้ โดยจัดเป็นรูปแบบการศึกษานอกระบบแล้วนอกจากจะช่วยให้ผู้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ได้ความรู้เป็นวิชาชีพแล้ว ยังช่วยให้ผู้นั้นเป็นผู้มีศีลธรรมจรรยามีน้ำใจ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคมส่วน รวมได้ผลยิ่งขึ้น แต่ในยุคปัจจุบันนี้ป่าธรรมชาติที่เป็นที่พำนักอาศัยของดาบสนั้นนับวันจะน้อยลงไป จึงจำเป็นต้องใช้ป่าสังเคราะห์หรือป่าคอนกรีตที่ตั้งสำนักดาบสแทน”
จากพระราชดำรัสดังกล่าว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พลตำรวจตรีสุชาติเผือกสกนธ์ รับไปดำเนินการทดลองเปิดอบรมวิชาช่างไฟฟ้าวิทยุขึ้นก่อน โดยใช้สถานที่ของสำนักพระราชวังณบ้านเลขที่ 384-386 ถนนสามเสนตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
เป็นที่ประจักษ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มิใช่ทรงเพียงเพื่อที่จะยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่คนไทยทุกคน แต่ยังทรงเน้นเพื่อพัฒนาจิตใจคนไทยให้เป็นคนดีควบคู่กันไปเพื่อความพัฒนาผาสุกไปสู่สังคมโดยรวมคือความสุขสงบเดินคู่กันไปอย่างยั่งยืนพระผู้ทรงเป็นครูฯ “การศึกษาตามอัธยาศัย”
การเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบถึงความเดือดร้อนของพสกนิกรหลายด้าน
ด้านหนึ่งที่พระองค์ทรงตระหนักเป็นพิเศษคือ การพระราชทานความรู้และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่ประชาชนผ่านศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตในภูมิ
ภาคต่างๆสำหรับให้ประชาชนเข้าไปศึกษาความรู้ตามอัธยาศัย สามารถนำความรู้ต่างๆ ไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
ทั้งนี้ได้พระราชทานหลักการดำเนินชีวิตเพื่อการนำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมีประสิทธิผล ที่เป้าหมายอันมุ่งหวังและได้ประสบความสำเร็จตามนั้นคือความสุขอย่างยั่งยืนในครอบครัว ในชุมชนด้วยเพราะการหลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลนที่เกาะกุมครอบครัวชุมชนมาเนิ่นนาน ได้แก่ หลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานไว้อันมีฐานของคุณธรรมนำขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตการประกอบอาชีพคือความขยันอดทน อดออม ไม่โลภ มีความรักสามัคคีกันมีความเมตตากรุณาต่อกันมั่นอยู่ในความกตัญญูรู้คุณ
การศึกษาตามอัธยาศัยผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานไว้มี6แห่งทั่วประเทศคือศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดตั้งตามพระราชดำริเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม2522ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จัดตั้งตามพระราชดำริเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม-3 ตุลาคม 2524ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริตำบลสนามไชย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านนานกเค้าตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองจังหวัดสกลนครศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิใช่เพียงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงในทศพิธราชธรรมเป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์แก่พสกนิกรเท่านั้นหากแต่พระราชกรณียกิจทุกอย่างของพระองค์คือ พระราชภารกิจต้นแบบที่ดีงามของความเป็นครูทั้งสิ้น เพราะถึงแม้พระองค์จะมิได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสอนหนังสือเหมือนครูในระบบอื่นๆ แต่พระองค์ทรงทำหน้าที่ของครูมาในทุกช่วงของพระชนมายุ ทรงเป็นครูของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่ทรงให้การอบรมบ่มเพาะทั้งเรื่องชีวิต การศึกษา ศาสนาวัฒนธรรม ประเพณีครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกมิติของชีวิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริในเรื่องหน้าที่ของครูไว้อย่างชัดเจนว่า”หน้าที่ของครูคือ การสร้างเสริมรากฐานอันแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่เยาวชน ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจและความรู้ ความฉลาด และที่สำคัญที่สุดจะต้องฝึกอบรมให้รู้จักความรับผิดชอบชั่วดี รู้จักตัดสินใจด้วยเหตุผล และรู้จักสร้างสรรค์ตามแนวหน้าที่สุจริตยุติธรรม” พระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายของการสอนว่า การสอนคือการอบรมสั่งสอนให้คนได้เรียนดี เพื่อที่สามารถทำงานสร้างตัวและดำรงตนให้เป็นหลักเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้
ทรงเป็นครูของแผ่นดินที่มิได้หมายเฉพาะพสกนิกรในแผ่นดินไทยเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมครอบคลุมได้ถึงมนุษยชาติในแผ่นดินของโลกที่ได้น้อมนำหลักคิดหลักวิชาหลักปฏิบัติของพระองค์ไปปรับใช้ในวิถีชีวิตจนประสบความสำเร็จ
อ่านต่อฉบับหน้า