สอนทำผ้าบาติก-มัดย้อมสร้างอาชีพให้คนว่างงาน

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560
“เพื่อต้องการให้คนในชุมชนมีทักษะในการสร้างรายได้ ทางชุมชนหมู่ 4 ตำบลบ้านกลาง จังหวัดปทุมธานี จึงได้ขอความอนุเคราะห์ไปทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยทางสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตำบลบ้านกลาง เป็นตัวประสานขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์และนักศึกษามาเป็นวิทยากรในการสอนครั้งนี้” นางวัลย์ลิภา เรืองสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี บอกถึงความเป็นมาโครงการอาจารย์และนักศึกษา สาขาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี สอนหลักสูตรธุรกิจการทำผ้าบาติก-มัดย้อมให้กับคนในชุมชนตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี
นางวัลย์ลิภาเล่าว่า ในหมู่ที่ 4 มีชาวบ้านประมาณ 360 ครัวเรือน ลักษณะเป็นชุมชนเมือง อาชีพมีความหลากหลาย ตั้งแต่ข้าราชการไปจนถึงการรับจ้างรายวัน พวกเราจึงจัดตั้งกลุ่มสตรีคนว่างงานขึ้น รวมกลุ่มในการหาอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐในการหาหลักสูตรเข้ามาอบรม เช่นเดียวกับหลักสูตรธุรกิจการทำผ้าบาติก-มัดย้อม อาจารย์และนักศึกษา สาขาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้เข้ามาสอนให้ความรู้ โดยทาง กศน.เป็นฝ่ายประสานงานให้ การอบรมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าอบรมประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย เมื่อสอบถามผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะนำความรู้ทางด้านการทำผ้ามัดย้อมไปต่อยอดของกลุ่มสตรีหมู่ 4 ส่วนการทำผ้ามัดย้อมมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น เสื้อ กระเป๋า ปลอกหมอน โดยสมาชิกในกลุ่มสามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้
นายสุระจิตร แก่นพิมพ์ อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยากรในการสอนหลักสูตรธุรกิจการทำผ้าบาติก-มัดย้อม เล่าว่า มองว่าธุรกิจเกี่ยวกับผ้าบาติก-มัดย้อมได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและอุปโภค เนื่องจากเสื้อผ้าเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยลวดลายของผ้าบาติก-มัดย้อมมีความเป็นเอกลักษณ์ ขึ้นอยู่กับฝีมือของแต่ละคน
สำหรับโครงการนี้สอนตั้งแต่พื้นฐานในเรื่องชนิดผ้า สีที่ใช้ วิธีการทำผ้าบาติก-มัดย้อม เทคนิคต่างๆ แหล่งจำหน่ายสินค้า ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อยืด ผ้าพันคอ กระเป๋า ปลอกหมอน โดยมีนักศึกษาอาสาสมัครจากสาขาการพิมพ์มาช่วยสอนในครั้งนี้ด้วย
ป้ามาลี แจ้งเจริญ วัย 60 ปี สมาชิกกลุ่มสตรีหมู่ 4 เล่าว่า อาชีพหลักคือการรับซ่อมเสื้อผ้าอยู่ที่บ้าน เมื่อทราบข่าวหลักสูตรดังกล่าวจึงสนใจเรียน มองว่าสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต เพราะตนเองมีจักรเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน โดยจะนำวิธีการมัดย้อมไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขั้นตอนในการมัดย้อมผ้าไม่ยุ่งยาก อาจารย์แนะนำแหล่งซื้อผ้า ซื้อสี และเทคนิคต่างๆ สามารถทำเองที่บ้านได้
นางสาวอุไรวรรณ์ สีหเดชากุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาภาพพิมพ์ เล่าว่า ชาวบ้านทุกคนมีความตั้งใจในการเรียนเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ ลวดลายที่ชาวบ้านมัดผ้ามีความสวยงาม

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]