มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเชิงนวัตกรรม RILL (RMUTT INNOVATIVE LIFELONG LEARNING) เพิ่มรูปแบบการเรียนรู้หลากหลายช่องทาง เรียนได้ทุกช่วงวัย เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนการสอนหรืออบรมที่ไม่เน้นปริญญา (Non Degree) สามารถสะสมในธนาคารหน่วยกิต (Credits Bank) ของมหาวิทยาลัย และเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เพื่อขอรับใบปริญญา
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตามยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนา 2561-2565 มหาวิทยาลัยมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม INNOVATIVE UNIVERSITY เป้าหมายหลักที่ 1 ผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับยุทธศาสตร์ชาติและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ และเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับยุทธศาสตร์ชาติ กลยุทธ์ที่ 7 LIFELONG LEARNING ทางมหาวิทยาลัยได้การดำเนินการจัดระบบการเรียนการสอน สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต RILL (RMUTT INNOVATIVE LIFELONG LEARNING) ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ผ่านการศึกษาหรือฝึกอบรมที่ไม่ได้รับปริญญา (Non Degree) ระบบหลักสูตร สมรรถนะ ชุดวิชา รายวิชา Module ระบบเทียบโอนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบสื่อและ MOOCs และระบบสะสมหน่วยกิต (Credits Bank) เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่เน้นปริญญา สะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยและเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เพื่อขอรับปริญญาได้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการเรียนแบบก้าวหน้า พัฒนาระบบการเรียนสองปริญญา (Dual Degree) ระบบการเรียนหลักสูตรรายบุคคล (Individual Based Program) และดำเนินการจัดตั้ง สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Academy)
โดยปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้การดำเนินงานพัฒนาสื่อ MOOCs การพัฒนา e-Learning กว่า 1500 วิชาของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดสอน MOOCs ร่วมกับ TCU 15 รายวิชา นอกจากนี้ยังมีโครงการเรียนออนไลน์ หรือฝึกอบรมด้าน ICT เพื่อให้ได้รับประกาศนียบัตรของ IC3 ,CompTIA, ICDL และ RMUTT ICT STANDARD เพื่อการเทียบโอนรายวิชาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ อีกทั้งอบรมตามมาตรฐานของสถาบันวิชาชีพต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังเปิดรับผู้สนใจเข้าศึกษา โครงการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ระบบสะสมหน่วยกิต (Credits Bank) หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิต (ต่อเนื่อง) สำเร็จการศึกษา ปวส. สายวิชาช่างอุตสาหกรรม ช่างกลโรงงาน ช่างกลโลหะ ช่างเชื่อมและโลหะแผ่น ช่างท่อและประสาน ช่างโลหะ ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างแม่พิมพ์ การจัดการอุตสาหกรรม ช่างเทคนิคยานยนต์ ช่างจักรกลหนัก ช่างกลเกษตร ช่างเครื่องมือกล และช่างทำความเย็นและปรับอากาศ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปวส. สาขาวิชาอื่นๆ หรือกรณีผู้ที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ สามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยอยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรพิจารณาหรือมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย โดยสามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ได้ 6 รูปแบบ ได้แก่ การเทียบโอนรายวิชา การทดสอบมาตรฐาน (CS : Credits from Standardized Tests) การทดสอบที่ไม่ใช่การทดสอบมาตรฐาน (CE : Credits from Examination) การศึกษาหรืออบรมที่ไม่ได้จัดโดยสถาบันอุดมศึกษา (CT: Credits from Training) ความรู้หรือประสบการณ์จากแฟ้มสะสมผลงาน (CP: Credits from Portfolio) และการศึกษาหรืออบรมหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้รับปริญญา (CN : Credits from Non-degree program) โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 19 พฤษภาคม 2562 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ทาง https://www.oreg.rmutt.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.0-2549-3613 – 15 ซึ่งจะเปิดรับโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เพื่อสะสมหน่วยกิต (Credits Bank) หลักสูตรอื่นๆ ในระดับปริญญาตรีเพิ่มเติมเพื่อเป็นช่องทางการเรียนที่หลากหลาย
สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาโทคาดว่าจะเปิดรับเข้าร่วมโครงการได้ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ไม่น้อยกว่า 10 หลักสูตร ใน 5 คณะ โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ทาง https://www.grad.rmutt.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2549-3697