RILL มทร.ธัญบุรี พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเปิดรับ Credits Bank

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเชิงนวัตกรรม RILL (RMUTT INNOVATIVE LIFELONG LEARNING) เพิ่มรูปแบบการเรียนรู้หลากหลายช่องทาง เรียนได้ทุกช่วงวัย เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนการสอนหรืออบรมที่ไม่เน้นปริญญา (Non Degree) สามารถสะสมในธนาคารหน่วยกิต (Credits Bank) ของมหาวิทยาลัย และเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เพื่อขอรับใบปริญญา
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตามยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนา 2561-2565 มหาวิทยาลัยมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม INNOVATIVE UNIVERSITY เป้าหมายหลักที่ 1 ผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับยุทธศาสตร์ชาติและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ และเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับยุทธศาสตร์ชาติ กลยุทธ์ที่ 7 LIFELONG LEARNING ทางมหาวิทยาลัยได้การดำเนินการจัดระบบการเรียนการสอน สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต RILL (RMUTT INNOVATIVE LIFELONG LEARNING) ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ผ่านการศึกษาหรือฝึกอบรมที่ไม่ได้รับปริญญา (Non Degree) ระบบหลักสูตร สมรรถนะ ชุดวิชา รายวิชา Module ระบบเทียบโอนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบสื่อและ MOOCs และระบบสะสมหน่วยกิต (Credits Bank) เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่เน้นปริญญา สะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยและเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เพื่อขอรับปริญญาได้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการเรียนแบบก้าวหน้า พัฒนาระบบการเรียนสองปริญญา (Dual Degree) ระบบการเรียนหลักสูตรรายบุคคล (Individual Based Program) และดำเนินการจัดตั้ง สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Academy)
โดยปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้การดำเนินงานพัฒนาสื่อ MOOCs การพัฒนา e-Learning กว่า 1500 วิชาของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดสอน MOOCs ร่วมกับ TCU 15 รายวิชา นอกจากนี้ยังมีโครงการเรียนออนไลน์ หรือฝึกอบรมด้าน ICT เพื่อให้ได้รับประกาศนียบัตรของ IC3 ,CompTIA, ICDL และ RMUTT ICT STANDARD เพื่อการเทียบโอนรายวิชาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ อีกทั้งอบรมตามมาตรฐานของสถาบันวิชาชีพต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังเปิดรับผู้สนใจเข้าศึกษา โครงการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ระบบสะสมหน่วยกิต (Credits Bank) หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิต (ต่อเนื่อง) สำเร็จการศึกษา ปวส. สายวิชาช่างอุตสาหกรรม ช่างกลโรงงาน ช่างกลโลหะ ช่างเชื่อมและโลหะแผ่น ช่างท่อและประสาน ช่างโลหะ ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างแม่พิมพ์ การจัดการอุตสาหกรรม ช่างเทคนิคยานยนต์ ช่างจักรกลหนัก ช่างกลเกษตร ช่างเครื่องมือกล และช่างทำความเย็นและปรับอากาศ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปวส. สาขาวิชาอื่นๆ หรือกรณีผู้ที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ สามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยอยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรพิจารณาหรือมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย โดยสามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ได้ 6 รูปแบบ ได้แก่ การเทียบโอนรายวิชา การทดสอบมาตรฐาน (CS : Credits from Standardized Tests) การทดสอบที่ไม่ใช่การทดสอบมาตรฐาน (CE : Credits from Examination) การศึกษาหรืออบรมที่ไม่ได้จัดโดยสถาบันอุดมศึกษา (CT: Credits from Training) ความรู้หรือประสบการณ์จากแฟ้มสะสมผลงาน (CP: Credits from Portfolio) และการศึกษาหรืออบรมหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้รับปริญญา (CN : Credits from Non-degree program) โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 19 พฤษภาคม 2562 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ทาง https://www.oreg.rmutt.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.0-2549-3613 – 15 ซึ่งจะเปิดรับโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เพื่อสะสมหน่วยกิต (Credits Bank) หลักสูตรอื่นๆ ในระดับปริญญาตรีเพิ่มเติมเพื่อเป็นช่องทางการเรียนที่หลากหลาย
สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาโทคาดว่าจะเปิดรับเข้าร่วมโครงการได้ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ไม่น้อยกว่า 10 หลักสูตร ใน 5 คณะ โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ทาง https://www.grad.rmutt.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2549-3697

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]