เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564
นภาพร พานิชชาติ
napapornp@dailynews.co.th
“ระบบการจัดการ” นับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารระบบจัดการคลังสินค้า เพื่อลดความผิดพลาดจากการทำงานด้วยแรงคน ล่าสุด นายพิทักษ์พงศ์ มะลิดง นายนัทธพงศ์ นารินทร์ นายชัยวัฒน์ จูมจันทร์ และนายทรงชัย อินทโสต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ และโลจิสติกส์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้วิจัยและพัฒนา “การจัดการคลังสินค้าต้นแบบ” (Warehouse Management) ขึ้น โดยมีอาจารย์เฉลิมศักดิ์ ถาวรวัตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อลดความสูญเปล่าในการทำงาน ลดต้นทุนการจัดการคลังสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการคลังสินค้า ตามหลักการของวิศวกรรมอุตสาหการ
สำหรับการจัดการคลังสินค้า เป็นการจัดการที่ครอบคลุมตั้งแต่การนำสินค้าเข้าคลังจนถึงการนำสินค้าออกจากคลังสินค้า การดำเนินงานภายในคลังสินค้าตั้งแต่ การรับสินค้า การจัดเก็บสินค้า การหยิบสินค้า และการจ่ายสินค้า ซึ่งปัญหาการจัดการคลังสินค้าจากการ ใช้แรงคนแบบดั้งเดิม มักพบความสูญเปล่าในการทำงาน และพบความผิดพลาดในการทำงานอยู่เสมอ ผู้วิจัยจึงมุ่งเน้นปรับปรุงโดยนำ “ระบบสัญญาณไฟ” (Light system) มาใช้ในการพัฒนาการวางสินค้าและการหยิบสินค้า
นายนัทธพงศ์ นารินทร์ กล่าวว่า ระบบวางสินค้าตามสัญญาณไฟ (Put-to-Light system) เป็นการนำสัญญาณไฟเข้ามาช่วยระบุตำแหน่งการวางสินค้า เมื่อพนักงานต้องการจัดเก็บสินค้าเข้าชั้นวาง เพียงยิงบาร์โค้ดของตัวสินค้า ระบบจะแสดงสัญญาณไฟที่ ชั้นวางสินค้า พนักงานสามารถวางสินค้าเข้าชั้นวางตามสัญญาณไฟที่ระบุ และยิงบาร์โค้ดยืนยันเป็นการสิ้นสุดการจัดเก็บสินค้า ทั้งนี้ยังนำระบบป้องกันความผิดพลาด (Poka Yoke) มาเสริม โดยเพิ่มเติมสัญญาณเสียง แผ่นปิด-เปิดชั้นวางสินค้า และเซ็นเซอร์ตรวจจับความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human Error) อีกด้วย
นายนัทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ระบบหยิบสินค้าตามสัญญาณไฟได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการ ส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ให้กับภาคอุตสาหกรรม Talent Mobility ประจำปี งบประมาณ 2562 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ในชื่อโครงการ “การออกแบบระบบหยิบสินค้าตามสัญญาณไฟ (Pick-to-Light) สำหรับกระบวนการเบิกจ่ายสินค้าในคลังวัตถุดิบ” โดยระบบหยิบสินค้าตามสัญญาณไฟ ใช้สัญญาณไฟเข้ามาช่วยระบุจำนวนและตำแหน่งของสินค้าตามใบรายการสินค้า (Bill of Material, BOM) อีกด้วย
ทั้งนี้ ระบบจัดการคลังสินค้าต้นแบบนี้ มีระบบการทำงานแบบเครือข่ายไร้สาย และสามารถแสดงผลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น.