มทร.ธัญบุรี ปรับหลักสูตรให้หุ่นยนต์ร่วมการเรียน-สอน หวังสร้างแรงงานคุณภาพป้อนตลาด

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 มี.ค. 2566
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม ได้มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการกระบวนการผลิตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องพัฒนาหลักสูตร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมนักศึกษาที่จะก้าวออกไปทำงานมีความเชี่ยวชาญ เข้าใจการทำงานในเชิงลึกของการทำงานด้วยหุ่นยนต์ เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ที่ได้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้เด็กที่จบออกไปมีอัตราการว่างงานน้อยลง

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต้องการของตลาดแรงงานเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาเป็นสื่อการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะ เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะออกสู่ภาคอุตสาหกรรม

สำหรับหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ประกอบด้วย 1. ROBOT FOR ARC WELDING เป็นการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในงานเชื่อมจุด 2. AGV (Automated Guided Vehicle) Robot หรือรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ สำหรับการขนย้ายสินค้าภายในคลังสินค้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำและปลอดภัย 3. DOBOT MAGICIAN เป็นแขนหุ่นยนต์หรือ Robotic Arms ที่ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่สนใจ และอยากเรียนรู้การควบคุมแขนหุ่นยนต์

4. METAL LATHE เป็นเครื่องกลึงความเร็วรอบสูง 5. MACHINING CENTER หรือเครื่องกัดที่มีอุปกรณ์เปลี่ยน Tools แบบอัตโนมัติ สามารถใช้งานได้ครบเครื่องมากกว่าด้วยการสั่งการเพียงครั้งเดียว ลดการทำงานซ้ำซ้อนและแรงงานคน ซึ่งการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการเรียนการสอน มทร.ธัญบุรีใช้งบประมาณสำหรับเครื่อง ROBOT FOR ARC WELDING และ AGV Robot 9 ล้านบาท

ด้าน ผศ.ประจักษ์ อ่างบุญตา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า การนำ WELDING ROBOT มาสอนนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การควบคุมหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมการเคลื่อนที่ การเขียนโปรแกรมการเชื่อมรวมถึงการป้อนค่าพารามิเตอร์การเชื่อม การทดสอบความถูกต้องของโปรแกรมที่เขียน และเชื่อมชิ้นงานจริงได้อย่างถูกและปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ซึ่งนักศึกษาที่จบจาก มทร.ธัญบุรี จะต้องเข้าใจการทำงานในเชิงลึกของการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ และการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย นอกจากนี้ยังคาดหวังว่านักศึกษาสามารถไปต่อยอดในการเข้ารับการอบรมและทดสอบเพื่อขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ด้านการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์และการตรวจสอบแบบไม่ทำลายจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศสหรือหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อได้ใบรับรองสามารถนำไปใช้ในการสมัครงาน การขึ้นขั้นเงินเดือนได้อย่างแน่นอน” ผศ.ประจักษ์ กล่าว

ขณะที่ อาจารย์เฉลิมศักดิ์ ถาวรวัตร์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ภาควิชาฯ ยังมีการนำหุ่นยนต์ลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ AGV Robot ระบบ LiDAR Sensor ที่มีการยิงคลื่นแสงเลเซอร์ส่งไปกระทบกับวัตถุเมื่อแสงกระทบวัตถุและสะท้อนกลับมายังเซนเซอร์ ระบบจะสามารถคำนวณระยะห่างของวัตถุจากตัวเซนเซอร์ได้ ทำให้สามารถลำเลียงสินค้า อุปกรณ์ภายในคลังสินค้าได้อย่างแม่นยำ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคลังสินค้า รวมถึงลดอุบัติเหตุ และความผิดพลาดในการทำงาน การนำ AGV Robot เข้ามาใช้ประกอบการเรียนการสอนนั้นเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากของจริง

เพราะปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทและถูกนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อใช้แทนกำลังคน ลดขั้นตอน ลดการสูญเปล่า และตอบสนองในยุคIntelligence of Things ที่ทุกอย่างเชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ต ทำให้ มทร.ธัญบุรีต้องเร่งเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาให้รอบด้าน ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนการเขียนโปรแกรม ควบคุม ดูแลรักษาเครื่องมือ รวมถึงจะต้องเรียนรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ว่าให้นักศึกษาจะต้องเข้าใจระบบกลไกของเครื่อง หลักการทำงาน และนักศึกษาควรผลิดหุ่นยนต์ได้เอง รวมถึงเมื่อจบการศึกษาก็สามารถพร้อมที่จะเริ่มงานได้เลย หรือช่วยลดระยะเวลาในการฝึกอบรมได้อีกทางหนึ่ง

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]