ราชมงคลร่วม สวทช.หนุน EECI ดึงจุดเด่นมหา’ลัยปฏิบัติ ขับเคลื่อน เน้นพัฒนาคน วิจัย สร้างนวัตกรรม

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) 9 แห่งในโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECI : Eastern Economic Corridor of Innovation ว่า เป็นโครงการที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการวิเคราะห์ทดสอบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดควาสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก โดยความร่วมมือกับ มทร. ทั้ง 9 แห่ง จะเน้นทางด้านการสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรอื่นๆ ตามสมควรและเหมาะสมเพื่อให้แผน ขับเคลื่อนการพัฒนา EECI เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย มทร. 9 แห่ง จะทำหน้าที่วิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ร่วมกัน โดยเฉพาะการวิจัย และสร้างนวัตกรรมด้านวิศวกรรมยานยนต์และวิศวกรรมการบินและอวกาศ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นในพื้นที่ EECI ที่ก่อ ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของ EECI คือการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งราชมงคลทั้ง 9 แห่งสามารถ ตอบสนองทั้งสองเรื่องได้ครอบคลุม ทั้งหมด เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นการปฏิบัติ ทั้งการผลิตบัณฑิตและการวิจัยที่ประยุกต์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่ภาคอุตสาหกรรม มั่นใจว่าทั้ง 9 แห่งมีความพร้อมอย่างมาก โดยภารกิจในการขับเคลื่อน EECI แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ด้านที่ 1 พัฒนากำลังคน ระบบ Transport & logistic โดยศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มทร.กรุงเทพ จะขับเคลื่อนด้านอากาศยาน มทร.อีสานรับผิดชอบด้านระบบราง มทร. ศรีวิชัยด้านระบบขนส่งทางทะเล ส่วน มทร.ตะวันออกจะทำด้านพัฒนาบุคลากรนักปฏิบัติโลจิสติกส์ระดับอาเซียน ด้านที่ 2 ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) มทร.พระนครรับผิดชอบ ด้านที่ 3 การบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม มทร.สุวรรณภูมิ รับผิดชอบ ด้านที่ 4 โครงการจัดการศึกษา ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูวิชาชีพ มทร.ธัญบุรีเป็น ผู้รับผิดชอบ ด้านที่ 5 โครงการด้านกิจการ เพื่อสังคม หรือ Social Enterprise มทร.กรุงเทพเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนด้าน Social Engagement มทร.ล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบ และ ด้านที่ 6 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มทร.รัตนโกสินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบ
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า หน้าที่หลักๆ ของ มทร.ธัญบุรีในการขับเคลื่อน EECI คือ การพัฒนาครูอาชีวศึกษา ที่ผ่านมาได้ส่งอาจารย์ไปอบรมด้านครูช่างที่เรียกว่าไมซ์เซอร์ที่ประเทศเยอรมัน และสอบไลเซ่นมีทั้งหมด 13 คน ปีหน้าจะส่งไปอีก 2 รุ่น และจะจัดตั้งสถาบันไทยไมซ์เซอร์ร่วมกับเยอรมันในเดือนหน้าเพื่อเป็นศูนย์พัฒนาอาจารย์ที่จะไปอบรมครูใน 9 ราชมงคลเพื่อป้อนให้กับอาชีวะคาดว่าจะสามารถพัฒนาครูช่างภายใต้มาตรฐานเยอรมันได้ไม่ต่ำกว่า 300-500 คน ควบคู่กับการทำงานวิจัยซึ่งเราทำกับ สวทช.มากว่า 5 ปีแล้ว
ด้าน รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มทร.พระนคร กล่าวว่า มทร.พระนครมี ความพร้อมในการเป็นแม่ข่ายทางด้านดิจิทัล อิโคโนมี่ โดยได้เดินหน้าทำเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วโดยร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศ เช่น อีสต์เอเซียโรโบติกส์ผู้ผลิตหุ่นยนต์ดินสอ และต่างประเทศที่เป็นบริษัทเอกชนใหญ่ ของเยอรมัน เช่น ไคร์ซเซอร์ บอร์ท คูก้า ทั้งอบรมอาจารย์และพัฒนานักศึกษา รวมถึงการวิจัยร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออก พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษา ได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยก่อนจะออกไปทำงานในสถานประกอบการจริง ฉะนั้นเป็นการย้ำชัดว่าเราจะโกดิจิทัลและจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 และ EECI
รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มทร.รัตนโกสินทร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นโครงการหนึ่งของมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมา มีการเตรียมบุคลากรและระเบียบต่างๆ รองรับการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยมี การบูรณาการทำงานร่วมกับคณะต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนใน 3 กลุ่ม คือกลุ่มเทคโนโลยีจะอยู่ในคณะวิศวะ สถาปัตยฯ กลุ่มอุตสาหกรรมการโรงแรมและท่องเที่ยวจะเน้นหลักสูตรด้านอาหาร รับเด็กจีนมาเรียน และกลุ่มศิลปกรรม มีวิทยาลัยเพาะช่างซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสร้างสรรค์รับผิดชอบโดยร่วมกับสถานประกอบการรับเด็กไปฝึกสหกิจศึกษา จบแล้วสามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรม ได้เลยหรือเป็นผู้ประกอบการของตัวเองก็ได้

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]