
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
พลพัต สาเลยยกานนท์
สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดสบู่สมุนไพร ทั้งในด้านกลยุทธ์ราคาและการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อแย่งชิงยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาด จึงทำให้เหล่าบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายต่างต้องรับมือกับความรุนแรงดังกล่าวนี้ สำหรับตลาดสบู่ทั้งสบู่ก้อนและสบู่เหลวคาดว่าจะมีมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งสบู่ก้อนมีสัดส่วนอยู่ที่ 50% ของตลาด และยังคงมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สิญจ์พธู หาญวรากิตติ์ กรรมการฝ่ายพัฒนาการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท วีเอส 09 ออริจินอล เฮิร์บ ผู้ผลิตและจำหน่ายสบู่ผสมสมุนไพรแบรนด์ “วิภาดา” กล่าวว่า เทรนด์การแข่งขันในตลาดสบู่สมุนไพรนั้น ที่ผ่านมามีสบู่ผสมสมุนไพรยี่ห้อต่างๆ ออกมาแข่งขันในตลาดมากขึ้น ทั้งสบู่ที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ในจำนวนนี้มีทั้งสบู่ที่เน้นการสร้างแบรนด์จนเป็นที่รู้จักและนิยมของลูกค้า รวมทั้งสบู่ทั่วไปที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ จึงทำให้ตลาดสบู่มีการแข่งขันสูง
ดังนั้น สบู่วิภาดาจึงได้เร่งสร้างมาตรฐานด้านต่างๆ ทั้งเรื่องคุณภาพและการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับจากลูกค้า เพื่อรับมือกับการแข่งขันของตลาด และเชื่อว่าแบรนด์จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความ พึงพอใจให้กับผู้บริโภค
ขณะที่สภาพการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ หากเป็นสินค้าทั่วไปที่ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือสร้างแบรนด์ในตลาด จะเน้นเรื่องการกำหนดราคาขายต่ำกว่า สำหรับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่หันมาผลิต
สบู่ผสมสมุนไพรจะเน้นเรื่องความหลากหลายทางการสื่อสาร การเข้าถึงลูกค้าผ่านกิจกรรมการตลาดต่างๆ รวมทั้งการแจกของรางวัลและชิงโชค เป็นต้น
สำหรับธุรกิจหลักของบริษัท คือผลิตสบู่แบรนด์วิภาดา และรับผลิตสบู่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง (OEM) สำหรับสบู่วิภาดามีทั้งหมด 6 กลิ่น ซึ่งขายผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่าย 70% ขายผ่านออนไลน์ 10-15% และขายจากโรงงาน 10%
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง เพื่อให้มีความ ทันสมัยและสวยงามยิ่งขึ้น รวมทั้งการคงไว้ซึ่งคุณภาพของสินค้าและมาตรฐานของวัตถุดิบประเภทสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ ซึ่งเน้นเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายใหม่ ด้วยการออกบูธงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงาม รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ
พร้อมกันนี้ยังได้ผลิตสบู่ขนาดทดลองใช้เพื่อแจกให้กับลูกค้าที่ยังไม่เคยใช้สบู่สมุนไพรมาก่อน เช่น การแจกให้กับลูกค้ากลุ่มนักศึกษาในสถาบันต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มช่องทางในการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ สื่อวิทยุ และรายการโทรทัศน์
สิญจ์พธู กล่าวว่า ครึ่งปีแรกของปีนี้ตลาดมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ตาม เนื่องจากสบู่เป็นสินค้าที่ตัด สินใจซื้อง่ายและมีการซื้อซ้ำ รวมถึงเทรนด์เรื่องสุขภาพในปัจจุบันนี้มาแรง ทั้งผู้บริโภคชาวไทยและต่างชาติเห็นความสำคัญของสมุนไพรมากขึ้น และมีการดูแลผิวพรรณของตนเองมากยิ่งขึ้น
จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้สบู่ผสมสมุนไพรยังคงได้รับความนิยมจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ครึ่งปีแรกบริษัทเติบโต 5% ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะเติบโตอยู่ที่ 10%
ด้านแผนการตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะเน้นการสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับกับผู้บริโภคระดับนานาชาติ ที่ผ่านมาได้โปรโมทให้ลูกค้าต่างชาติรับรู้ว่าสบู่วิภาดาได้รับตราสัญลักษณ์ฮาลาล ทำให้สามารถขยายตลาดไปสู่ลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิม ทั้งที่อยู่ในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการนำสินค้าไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซียแล้ว
ขณะเดียวกัน จะเน้นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคและการรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมทั้งการเพิ่มลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยใช้พรีเซนเตอร์ “เมย์” บัณฑิตา ฐานวิเศษ เป็นตัวเชื่อมระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค เนื่องจากลูกค้าในภูมิภาคต่างๆ ยังคงชอบดารา นอกจากนี้แล้วยังให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนจำหน่ายในระดับภูมิภาค เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญในการจัดจำหน่าย
ในส่วนของการสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าและความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ ได้เชิญ ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ อาจารย์ประจำและนักวิจัย จากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงด้านการวิจัยทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัท เป็นต้น
จากแผนดังกล่าวเชื่อว่าบริษัทจะสามารถแข่งขันท่ามกลางสภาวะที่รุนแรงเช่นนี้ได้ และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้