ผลิตภัณฑ์จากกาบหมากช่วยสร้างอาชีพให้ชุมชน

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ดร.สุภา จุฬคุปต์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกาบหมาก นำวัสดุธรรมชาติเหลือใช้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
ดร.สุภาเล่าว่า ต้นหมากสามารถปลูกได้ทั่วไปทุกพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคใต้นิยมปลูกกันมากที่สุด ผู้สูงอายุมักนำผลมาเคี้ยวกินกับปูนและพลู อีกหนึ่งส่วนของหมากคือ กาบ นิยมนำมาทำเป็นของเล่นให้เด็ก เช่น รถลาก โดยเด็กจะนั่งบนกาบหมาก มือจับที่โคน ส่วนเด็กอีกคนจะจับปลายทางที่เหลือไว้แล้วเดินหรือวิ่งลากไป อีกทั้งนำมาใช้เป็นที่จับกระทะเคี่ยวตาล เวลายกขึ้นลงจากเตาถ่านแทนการใช้ผ้า
อย่างไรก็ตาม กาบหมากเมื่อมีจำนวนมากชาวสวนมักจะเผาทิ้ง ซึ่งสร้างมลพิษในอากาศ เมื่อได้มีโอกาสไปยังสวนหมากของญาติ เห็นกาบหมากหล่นและถูกเผาโดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์จึงอยากนำกาบหมากกลับมาใช้ประโยชน์ จึงได้ทำการศึกษาและวิจัยกาบหมาก สร้างมูลค่าให้กับกาบหมากเหลือใช้
จากการศึกษาลักษณะของกาบหมากมีลักษณะเฉพาะตัวในเรื่องของสี คือ ส่วนด้านนอกสุดจะมีสีน้ำตาลเข้ม ไล่เป็นสีอ่อน จึงได้ทำการวิจัยโดยกระบวนการ “ตกแต่งนุ่ม” เนื่องจากกาบหมากจะมีความแข็ง ไม่เหมาะสำหรับงานจักสาน ดังนั้นจึงต้องผ่านกระบวนการตกแต่งให้กาบนุ่มและอ่อนตัวเพื่อความสะดวกต่อการนำไปใช้ในงานจักสาน ทั้งนี้ได้ใช้สารเท็กซ์มินา ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความนุ่มในเส้นใยต่างๆ โดยใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 10 และแช่นาน 1 วัน จากนั้นนำไปผึ่งลมให้แห้งแล้วเก็บไว้รอใช้งาน
ดร.สุภากล่าวว่า ถ้าจะนำมาใช้ก็ชุบน้ำให้นุ่มแล้วนำมาสานเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า นำวัสดุ เช่น ผ้า หนัง มาผสมผสาน เพื่อความทันสมัยและน่าหยิบจับใช้ ซึ่งกระเป๋าจากกาบหมากมีน้ำหนักค่อนข้างเบา อายุในการใช้งานขึ้นอยู่กับการรักษา ซึ่งสามารถใช้ได้ประมาณ 2-3 ปี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย
กาบหมากเป็นวัสดุธรรมชาติอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาแทนวัสดุอื่นๆ เช่น หวาย ซึ่งปัจจุบันหายาก จึงต้องนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทน ปัจจุบันอาจารย์สุภา จุฬคุปต์ ได้นำความรู้การทำกระเป๋าจากกาบหมากไปสอนยังชุมชนบ้านฟ้าปิยรมย์ จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้กลุ่มแม่บ้านหรือชาวชุมชนใดสนใจความรู้ในการทำกระเป๋ากาบหมาก และต้องการติดต่อให้เป็นวิทยากรฝึกอบรม สามารถติดต่อมาได้ที่ โทร. 08-1441-5506.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]