
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี วิจัยเรื่องการยืดอายุมะนาวและกล้วยน้ำว้า ประกอบด้วย นายเกรียงไกร ดาวแสงเพชร และนางสาววนิดา กันหนองฮะ ร่วมกันวิจัยสารเคลือบอัลจิเนตและอุณหภูมิการเก็บรักษาต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของมะนาว โดยมี ผศ.ดร.อินทิรา ลิจันทร์พร นักวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นที่ปรึกษา
ผศ.ดร.อินทิรากล่าวว่า การยืดอายุของผลไม้ทำได้โดยการควบคุมกระบวนการเปลี่ยนแปลงผลผลิตที่นำไปสู่ความเสื่อมสลาย โดยการควบคุมอัตราการหายใจของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด สามารถทำให้ยืดอายุได้นาน ด้วยการจัดการปัจจัยภายนอกให้เหมาะสม การยืดอายุผลไม้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเก็บรักษาในห้องเย็น การเก็บรักษาโดยการควบคุมสภาพของบรรยากาศ และการใช้สารเคลือบผิว โดยเฉพาะการใช้สารอัลจิเนต หรืออัลจิน ซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ไม่เป็นอันตราย และใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น น้ำสลัด เบียร์ เคลือบผิวเนื้อปลาแช่แข็ง
ทั้งนี้ ได้ให้โจทย์นักศึกษาเพื่อทำการศึกษาผลของสารเคลือบผิวอัลจิเนตต่อคุณภาพและปริมาณคลอโรฟิลล์ของกล้วยน้ำว้าระหว่างการเก็บรักษา เพื่อเป็นแนวทางในการยืดอายุของผลกล้วยน้ำว้าให้สามารถวางขายในท้องตลาดได้นานขึ้น และศึกษาผลของสารเคลือบอัลจิเนตและอุณหภูมิการเก็บรักษาต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของมะนาวมาปรับปรุงคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษา เพื่อเป็นแนวทางการยืดอายุผลิตผลมะนาว การเก็บรักษาไว้ในลักษณะผลสด และสามารถเก็บผลผลิตไว้ใช้นอกฤดูกาลได้
นายเกรียงไกรเล่าว่า มะนาวเป็นไม้ผลที่ปลูกทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย และมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทย ใช้ในการประกอบอาหาร มีความต้องการในตลาดสูงและมีราคาแพงในช่วงฤดูแล้ง และจัดเป็นไม้ผลที่มีอัตราการหายใจการสังเคราะห์เอทิลีนต่ำ ทำให้มะนาวมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น สีเปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลืองและน้ำตาลภายใน 2 สัปดาห์ที่อุณหภูมิห้อง ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางการยืดอายุผลมะนาว จึงได้ศึกษาผลของสารเคลือบอัลจิเนตและอุณหภูมิการเก็บรักษาต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของมะนาว
“จากการวิเคราะห์ผลของการเคลือบผิวอัลจิเนตในมะนาว สามารถช่วยรักษาคุณภาพของมะนาวไว้ได้นานยิ่งขึ้น งานวิจัยครั้งนี้ใช้อัลจิเนตความเข้มข้นสูงสุดที่ร้อยละ 4 ซึ่งข้อมูลการวิเคราะห์จะเห็นได้ว่ามะนาวยังคงคุณภาพไว้ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นหากเพิ่มความเข้มข้นของอัลจิเนตจะช่วยรักษาคุณภาพของผลมะนาวไว้ได้นานมากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว.