
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2560
3 หมื่นคน ภายใน 5 ปี รองรับลงทุนโครงการพื้นฐานทยอยแล้วเสร็จ
กรุงเทพธุรกิจ “คมนาคม’ ถกสถาบันศึกษา เร่งผลิตบุคลากรระบบรางเพิ่มจาก 1 หมื่นคน เป็น 3 หมื่นคนใน 5 ปี รองรับโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังแล้วเสร็จ เผยหารือจีนตั้ง 2 บริษัทลูก ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาเรื่อง “โอกาสของการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง” ในการประชุมผู้บริหารเครือข่ายสถาบันวิชาการระบบขนส่งทางราง เพื่อกำหนดความต้องการด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ ที่สำคัญ วานนี้ (7 ส.ค.)
นายพิชิต กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบรางต่างๆ ของรัฐบาลจะทยอยเปิดให้บริการภายใน 5 ปีนับจากนี้ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล, รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้ไทยต้องการบุคลากรระบบรางตั้งแต่ระดับปฏิบัติการถึงระดับสูงไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นคน แต่ตอนนี้ไทยมีศักยภาพในการผลิตบุคลากรระบบรางเพียง 1,000 คนต่อปี เพราะเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยสถาบันที่ผลิตบุคคลากรในปัจจุบันได้แก่ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟผลิตได้ 200-300 คนต่อปี ในระดับมหาวิทยาลัยมีประมาณ 4-5 หลักสูตร คือ ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดับปริญญาตรีมี 5 แห่งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยรังสิต และระดับวิชาชีพมีสถาบันอาชีวศึกษาประมาณ 12 แห่ง ดังนั้นจึงเหลือเวลาอีก 4-5 ปี ที่ต้องเร่งผลิตบุคลากรให้ได้ตามเป้าหมาย
สถาบันต่างๆ จึงหารือเรื่องถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและต้องแบ่งว่าสถาบันไหนจะรับผิดชอบ ผลิตบุคลากรในด้านใดบ้าง เพราะการ ผลิตบุคลากรแต่ละประเภทต้องลงทุนด้านอุปกรณ์และเครื่องมือในการวิจัยพัฒนาค่อนข้างสูง
“ผมคิดว่าประมาณ 6 เดือนจะเห็นภาพชัดเจนว่าจะเป็นวิทยาลัยอะไรบ้าง ระดับ ปวส. หรือระดับปริญญาตรี หรือควรเป็นระดับอุดมศึกษาที่ทำงานวิจัยด้วย”
นายพิชิต กล่าวอีกว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางครั้งนี้ จะให้จีนเข้ามามี ส่วนร่วม เพราะเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่รัฐบาลกำหนดไว้
เบื้องต้นต้องการให้จัดตั้งบริษัทร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และทางจีน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็น รูปธรรม โดยตอนนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ ร.ฟ.ท. ทั้ง 3 บริษัทลูก คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ บริษัทเดินรถ และบริษัทบำรุงรักษาอยู่แล้ว ฝ่ายจีนก็น่าจะยินดีและพร้อมในการตั้งบริษัทร่วมกัน เพราะว่า ฝ่ายจีนก็จะได้ประโยชน์ด้วย ถ้ามาทำ บริษัทด้วยกัน
“ผมเองอยากให้จีนตั้งบริษัทเดินรถและบริษัทบำรุงรักษาร่วมกับการรถไฟฯ แล้วก็ให้องค์ความรู้อยู่ร่วมกับการรถไฟฯ ในเรื่องความสามารถในการบริหารจัดการเดินรถ ซ่อมรถ ปรับปรุงรถ และในอนาคตอาจจะสร้างรถเองได้ เราคุยกับจีนเบื้องต้นแล้ว และ เป็นหน้าที่หลักอยู่แล้วที่จีนจะต้องทำให้สามารถเดินรถได้ แต่การเดินรถได้ยั่งยืนต้องซ่อมรถได้ด้วย”
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกรมการ ขนส่งราง ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมควบคู่ ไปกับรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. … คาดว่าจะเสนอข้อสรุป ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายใน1 เดือนก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบอีก ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้