
มติชน ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 เรื่องแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยเน้นการแก้ปัญหาการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา จนเป็นอุปสรรคให้การบริหารงานของสถานศึกษาต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถขับเคลื่อนสถานศึกษาได้เป็นระบบ ขาดความต่อเนื่องและเกิดความล่าช้า ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ ว่า คำสั่งนี้ออกมาเพื่อแก้ปัญหามหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาภาพรวมของอุดมศึกษาทั้งระบบ รวมถึงยังเป็นดาบสองคม เพราะหากตีความว่าการปลดล็อกครั้งนี้จะทำให้ได้คนเก่ง มีประสบการณ์ มีความสามารถมาทำงาน ก็เป็นเรื่องดี แต่หากมองในเรื่องการสืบทอดอำนาจ ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย ต้องยอมรับว่าระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยไทย มีการสืบทอดอำนาจ เกี้ยเซี้ยกัน ย้ายจากอีกที่หนึ่งไปเป็นอธิการบดีอีกที่หนึ่ง เกิดการส่งต่ออำนาจ ทำให้ระบบการตรวจสอบการทำงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมีความอ่อนแอ เป็น กลุ่มผลประโยชน์พวกเดียวกัน ส่งผลให้เกิดปัญหา ทั้งธรรมาภิบาล งานวิชาการ คุณภาพบัณฑิต กลายเป็นสภาพอุดมศึกษาที่ไร้ทิศทางและปฏิรูปให้ดีขึ้นยาก ดังนั้น ในอนาคตอยากให้มองถึงการปฏิรูปอุดมศึกษาทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะเลขานุการที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า ถือเป็นทางออกที่ดี ต้องยอมรับว่าผู้ที่เป็นอธิการบดีโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่อย่าง มทร. และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ส่วนใหญ่เป็นคนนอกที่เกษียณอายุราชการแล้ว เพราะต้องการผู้ที่มีประสบการณ์มาทำงานด้านบริหาร เนื่องจากคนรุ่นใหม่ อาจจะยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ ดังนั้น การที่มีคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการปลดล็อก ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวปฏิบัติ และลดความขัดแย้ง เพราะขณะนี้มีหลายแห่งเกิดปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลว่าจะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจนั้น ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง แต่ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งว่าจะสามารถกำกับดูแลได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะกรรมการสภา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแลฝ่ายบริหาร หากทำอย่างมีประสิทธิภาพก็เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา
“การสืบทอดอำนาจมีจริง แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละที่ บางแห่งให้สืบทอดเพราะมีความสามารถและคนรุ่นใหม่ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ แต่เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มมีประสบการณ์ สามารถเติบโตและบริหารงานในมหาวิทยาลัยได้ ขณะที่หลายแห่งเตรียมตัวออกนอกระบบ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐซึ่งจะมีกฎหมายของตัวเอง ที่สามารถเขียนให้คลอบคลุมการบริหารงานในส่วนต่างๆ ได้” นายประเสริฐกล่าว
นายณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ เปิดเผยว่า เครือข่ายนักวิชาการฯซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “หยุดแทรกแซง คืนเสรีภาพทางวิชาการและจิตวิญญาณมหาวิทยาลัย” ใจความว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการอ้างปรากฏการณ์เพียงบางส่วนของมหาวิทยาลัย มาใช้แบบเหมารวมเพื่อควบคุม กำกับและแทรกแซงอำนาจทางการบริหาร ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยสูญเสียความเป็นอิสระ ขาดเสรีภาพทางวิชาการ และการเป็นสถาบันที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการสร้างปัญญาของสังคม รวมถึงการทำให้มหาวิทยาลัยตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทางการเมือง อันจะทำให้เกิดการสูญเสียศักดิ์ สิทธิ และเป็นพิษร้ายทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยในอนาคต เครือข่ายนักวิชาการฯจึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว รวมถึงหยุดการแทรกแซงมหาวิทยาลัยในทุกรูปแบบโดยทันที อย่างไรก็ตาม เครือข่ายนักวิชาการฯตระหนักดีว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยจึงควรจะเร่งปฏิรูปตนเองด้วยพลังการมีส่วนร่วม การตรวจสอบ และการถ่วงดุลภายในทุกระดับ รวมถึงการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างพันธกรณีให้มหาวิทยาลัยยึดโยง และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม ชุมชน ท้องถิ่นอย่างแท้จริง