
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560
หลายมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) เกิดปัญหาฟ้องร้อง เพราะตีความไม่ตรงกัน เรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี
โดยเฉพาะประเด็น คนนอก ไม่ใช่ข้าราชการ อายุเกิน 60 เป็นอธิการบดีได้หรือไม่
ถึงขั้นคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ยื่นหนังสือเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการขัดต่อกฎหมาย ต่อประธานองคมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ขณะที่ทางประชุมอธิการบดี มรภ. ออกแถลงการณ์โต้กลับว่า สามารถกระทำได้และชอบด้วยกฎหมาย
ล่าลุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จบปัญหานี้ โดยขอใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/ 2560 เรื่องแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ปลดล็อกให้คนนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเป็นอุปสรรค ทำให้การบริหารงานของสถานศึกษาต้องหยุดชะงัก
ไม่สามารถขับเคลื่อนสถานศึกษาได้เป็นระบบขาดความต่อเนื่องและเกิดความล่าช้าในการบริหารงาน ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้
เรื่องนี้ นายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) อธิบายว่า คำสั่งนี้ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างให้คนนอกนั่งตำแหน่งอธิการบดีได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ พ.ร.บ.มรภ. พ.ศ.2547 พ.ร.บ.มทร. พ.ศ.2547 เปิดกว้างอยู่แล้ว ในอดีตการเป็นอธิการบดี โดยเฉพาะกลุ่ม มรภ. มทร. ที่แต่งตั้งตามกฎหมาย ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุไว้ แต่บางมหาวิทยาลัยนำไปโยงกับระบบราชการ ซึ่งเกษียณอายุ 60 ปี ทำให้เกิดความสับสน จนเกิดเป็นปัญหาฟ้องร้องกันหลายแห่ง
ดังนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ จึงทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น เพราะผู้ที่เกษียณอายุราชการก็ถือเป็นคนนอก และกฎหมายไม่ได้ห้ามเป็นอธิการบดี
ส่วนกรณีที่ขณะที่มหาวิทยาลัยที่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ในศาล ก็จะต้องนำคำสั่งนี้ไปแถลงต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาต่อไป
ส่วนตัวคิดว่า ศาลน่าจะพิจารณาจำหน่ายคดี เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ถือว่าชัดเจนแล้ว และจากนี้การสรรหาอธิการบดีแต่ละแห่งก็ต้องยึดตามกฎหมายนี้!
แม้จะบอกว่า คำสั่งนี้จะออกมาเพื่อยุติปัญหา
ไม่ให้การฟ้องร้องยืดเยื้อ แนวปฏิบัติในการคัดเลือกอธิการมีความชัดเจนขึ้น
แต่ นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เห็นต่างว่า เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนตัวการออกคำสั่งเช่นนี้มีทั้งข้อดี คือ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ บริหารมหาวิทยาลัยได้แม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว
แต่ข้อเสีย จะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ เกิดปัญหาสภา กับอธิการบดีเกาหลังกันเอง ระยะยาว
สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือ สร้างระบบธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นกับสภา และต้องไม่มีสภาเกาหลังอีกต่อไป
ขณะที่ นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ในฐานะเลขานุการที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) มทร. ยอมรับว่า การสืบทอดอำนาจมีจริง แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละที่ บางแห่งสืบทอดเพราะมีความสามารถและคนรุ่นใหม่ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ
แต่เชื่อว่า ในอีกไม่เกิน 5 ปี ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มมีประสบการณ์ สามารถเติบโตและบริหารงานในมหาวิทยาลัยได้ ขณะที่หลายแห่งเตรียมตัวออกนอกระบบ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐซึ่งจะมีกฎหมายของตัวเอง ที่สามารถเขียนให้ครอบคลุมการบริหารงานในส่วนต่างๆ ได้
“การใช้ ม.44 แก้ปัญหานี้ ถือเป็นทางออกที่ดี ต้องยอมรับว่าผู้ที่เป็นอธิการบดี โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่อย่าง มทร. และ มรภ. ส่วนใหญ่เป็นคนนอกที่เกษียณอายุราชการแล้ว เพราะต้องการผู้ที่มีประสบการณ์มาทำงานด้านบริหาร เนื่องจากคนรุ่นใหม่อาจจะยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ ดังนั้น การที่มีคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการปลดล็อก ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวปฏิบัติ และลดความขัดแย้ง เพราะขณะนี้มีหลายแห่งเกิดปัญหาเป็นเรื่องฟ้องร้องกันอยู่” นายประเสริฐกล่าว
ด้านนักวิชาการอย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำสั่งนี้ออกมาเพื่อแก้ปัญหามหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาภาพรวมของอุดมศึกษาทั้งระบบ รวมถึงยังเป็นดาบสองคม
เพราะหากตีความว่า การปลดล็อกครั้งนี้ จะทำให้ได้คนเก่ง มีประสบการณ์มีความสามารถมาทำงาน ก็เป็นเรื่องดี
แต่ก็อาจเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยไทย มีการเกี้ยเซียะกัน ย้ายจากอีกที่หนึ่งไปเป็นอธิการบดีอีกที่หนึ่ง เกิดการส่งต่ออำนาจ ทำให้ระบบการตรวจสอบการทำงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมีความอ่อนแอ เป็นกลุ่มผลประโยชน์พวกเดียวกัน ส่งผลให้เกิดปัญหา ทั้งธรรมาภิบาล งานวิชาการ คุณภาพบัณฑิต กลายเป็นสภาพอุดมศึกษาที่ไร้ทิศทางและปฏิรูปให้ดีขึ้นได้ยาก
ดังนั้น ในอนาคตอยากให้มองถึงการปฏิรูปอุดมศึกษาทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
ใช้ ม.44 เปิดทางให้มหาวิทยาลัยเลือกคนนอก ที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นอธิการบดีได้ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่นัยเรื่องดาบสองคมก็คงต้องระวัง เชื่อว่าปัญหาทั้งหมดนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมีธรรมาภิบาล ไม่เล่นพรรคเล่นพวก เกาหลังกัน!!
เพราะถ้ายังแก้สามัญสำนึกให้มีธรรมาภิบาลเกิดขึ้นไม่ได้ ต่อให้ใช้ ม.44 อีกร้อยครั้ง ก็เกินเยียวยา และผู้ที่จะแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุด หนีไม่พ้นคนในมหาวิทยาลัย
ที่ต้องไปคิดกัน…