
สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560
เด็กไทยโชว์ไอเดียประกวด ITCi Award “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเวทีส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์แสดงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของ ผู้สูงวัย และเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งไทยและตลาดโลก ซึ่งได้ผู้ผ่าน เข้ารอบแรกทั้งหมด 19 ทีม มาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทย โดยยกตัวอย่างบางทีมมานำเสนอ
>> หุ่นยนต์จ่ายยา
ทีม “เจ้าอุ่นใจ (Robot Nurse)” โดย “นายรวิรุจ บุตโคษา และนางสาวอิน ธุอร ปิลา” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มาพร้อมกับ “เจ้าอุ่นใจ” ที่ถูกออกแบบให้เป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยเตือนการรับประทานยามีช่องจ่ายยาถึง 30 ช่อง สามารถตั้งเวลา การจ่ายยาได้ พร้อมทั้งติดกล้องให้คนในครอบครัวสามารถดูได้ว่าผู้สูงอายุนั้นทำอะไรและอยู่ส่วนไหนของบ้าน ทั้งนี้ เจ้าอุ่นใจยังทราบว่าผู้สูงอายุได้มีการหยิบยาไปรับประทานหรือยัง ซึ่งสามารถควบคุมได้โดยแอพพลิเคชั่น เรียกได้ว่าสะดวกและตอบโจทย์ผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก
>> ถุงมือ GPS
ทีม “42/39” โดย “นายภูมิพิชิต กองวะมุด, นายทศพนธ์ ธนะสุทธิพันธ์ และนายปรัชญา วงโยโพ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีผลงานนวัตกรรม “Glove Independ” มือช่วยจับเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มความสะดวกในการหยิบจับสิ่งของ ต่างๆ ของผู้สูงอายุ ซึ่งนวัตกรรมของถุงมือพิเศษนี้คือ สามารถระบายอากาศได้ดี สวมใส่ได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังติด GPS เพื่อบอกตำแหน่งผู้ใช้ภายในบ้านให้ผู้ดูแลทราบว่าผู้สูงอายุอยู่ส่วนไหนภายในบ้าน
>> ผ้าอ้อมเซ็นเซอร์
ทีม “มจพ.” โดย “นายปวริต วานิชขจร” และ “นายพงศกร สุรัตนะ”มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผลงานนวัตกรรม “เครื่องวัดความเต็มของผ้าอ้อมผู้สูงอายุ” เครื่องมีขนาดบางและเบาลักษณะเป็นสติกเกอร์สามารถ ถอดและแปะใหม่ได้ ไม่ทำให้ผู้สูงอายุรำคาญเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพียงแค่ติด ไว้บนผ้าอ้อมที่ผู้สูงอายุสวมใส่ เซ็นเซอร์ก็จะทำงานประมวลความชื้นจากผ้าอ้อม หากความชื้นจากผ้าอ้อมสูงกว่าที่กำหนดก็เท่ากับว่าผ้าอ้อมเต็มถึงเวลาเปลี่ยน เซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้ดูแลมาทำการเปลี่ยนผ้าอ้อม ทำให้ไม่ต้องคอยเช็กผ้าอ้อมตลอดเวลา
>> พื้นเปลี่ยนสี
ทีม “พื้นพื้น” โดย “นางสาวอภิสรา วชิรพรพงศา และ นายอนวัช พิพัฒน์- กรกุล” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานนวัตกรรม “Smart Floor”พื้นอัจฉริยะเหมาะกับการใช้ในบ้านที่มีผู้สูงอายุสายตาไม่ดี เมื่อพื้นมีการเปียกน้ำจะเปลี่ยนสีทำให้ ผู้สูงอายุทราบว่าจุดใดพื้นเปียกไม่ควรเดินไป ช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุภายในบ้าน Smart Floor ออกแบบให้มีพื้นผิวนุ่มกว่ากระเบื้องหรือพื้นปกติ สามารถติดตั้งง่าย ใช้ได้ทั้งแบบที่ติดตั้งใหม่และติดทับพื้นเดิมที่มีอยู่
>> ปรับแสงบำบัดโรค
ทีม “Color de Art” โดย “นายอนุกุล รัดสำโรง และ นางสาวมินตรา มานะวุฑฒ์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานนวัตกรรม “Smart Illumintion for Elderly at Home” แสงภายในบ้านและในห้องนอนที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งทีม Color de Art ได้ศึกษางานวิจัยต่างๆ มาอย่างละเอียดและพบว่าการใช้แสงสามารถช่วยในการบำบัดรักษาได้ โดยใช้ไบโอเซ็นเซอร์ตรวจการเต้นของหัวใจ ด้วยอุณหภูมิแสง ปรับแสงให้เหมาะกับการเต้นของหัวใจ ใช้ร่วมกับสายรัดข้อมือที่ช่วยจับการเต้นของหัวใจ
ก่อนหน้านี้ นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่า กองทุนมองหาสตาร์ตอัพเพื่อลงทุนในหลายธุรกิจ ทั้งอีคอมเมิร์ซ ฟินเทค อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา และสุขภาพ แต่ปรากฏว่ามีสตาร์ตอัพจากกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพมาขอเงินลงทุนจากกองทุนน้อยที่สุด ทั้งที่ความเป็นไปได้ทางการตลาดค่อนข้างสูง เพราะคนยอมจ่ายเงินเพื่อสุขภาพของตนและคนที่รัก
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ Health Tech Startup จะต้องมีผู้เชี่ยว- ชาญเช่นหมอหรือผู้มีความสามารถร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในธุรกิจ โดยใช้ความรู้และให้เวลากับธุรกิจเต็มรูปแบบ และต้องดำเนินการภายในปี 2561 เป็นอย่างช้า