เด็กไทยโชว์เจ๋ง! โชว์ไอเดียประกวด ITCi Award “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงอายุ”

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับสนำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมจัดโครงการประกวด “ITCi Award” ในหัวข้อ “นตวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์แสดงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัย และเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งไทยและตลาดโลก ซึ่งได้ผู้เข้ารอบแรกทั้งหมด 19 ทีม มาจากสถาบันการศึกาทั่วประเทศไทยที่พร้อมโชว์ไอเดียชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1,000,000 บาท ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2560 ณ ลานสยามสแควร์วัน ชั้น LG
ทีมที่ 1 “เจ้าอุ่นใจ (Robot Nurse)” โดย “นายรวิรุจ บุตโคษาและนางสาวอินธุอร ปิลา” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มาพร้อมกับ “เจ้าอุ่นใจ” ที่ถูกออกแบบให้เป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยเตือนการรับประทานยามีช่องจ่ายยาถึง 30 ช่อง สามารถตั้งเวลาการจ่ายยาได้ พร้อมทั้งติดกล้องให้คนในครอบครัวสามารถดูได้ว่า ผู้สูงอายุนั้นทำอะไรและอยู่ส่วนไหนของบ้าน ทั้งนี้เจ้าอุ่นใจยังทราบว่าผู้สูงอายุได้มีการหยิบยาไปรับประทานหรือยังเจ้าอุ่นใจสามารถควบคุมได้โดยแอปพลิเคชันเรียกได้ว่าสะดวกและตอบโจทย์ผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก
ทีมที่ 2 “TTB” โดย “นายนริศ อัศวเลิศศักดิ์, นายกิตติ ผ่องอักษรและนายไชยพร บุญญาเสถียร” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับ นวัตกรรม “Helper chair” คือเบาะรองนั่งสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาตรงข้อกระดูกที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการลุกนั่ง โดยใช้หลักการเดียวกับอุปกรณ์ที่ใช้ยกรถยนต์ Helper Chair มีเซ็นเซอร์สามารถรับรู้และบันทึกน้ำหนักของผู้สูงอายุซึ่งมีผลกับการลุกนั่ง ที่สำคัญพร้อมใช้งานทันทีเมื่อผู้สูงอายุเดินเข้ามาในระยะที่เซ็นเซอร์จับถึง ออกแบบมาเพื่อให้ใช้ง่ายไม่ซับซ้อน ใช้งานในบ้านโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้า นอกบ้านใช้ระบบแบตเตอรี่
ทีมที่ 3 “Inspirative” โดย “นายจารุกิตติ์ ปานสี, นานศุขมิตร ทีฆเสีย์และนายสุวพิช มณีพงษ์” มหาวิทยาลัยพะเยา มาพร้อมกับไอเดียที่ว่าทำอย่างไรถึงจะลดปัญหาผู้สูงอายุล้มในห้องน้ำได้ ด้วยการนำระบบอัจฉริยะ “F.D.Life” มาใช้เพื่อตรวจวัดการล้มในห้องน้ำ ซึ่งจะวัดค่าจากความสูงตั้งแต่ผู้สูงอายุเดินเข้าห้องน้ำ หากความสูงต่ำกว่าระดับที่ตั้งค่าเครื่องไว้แสดงว่าเสี่ยงต่อการล้ม ระบบจะส่งสัญญาณเตือนเพื่อให้มีคนเข้ามาช่วยเหลือ เท่านั้นยังไม่พอ F.D.Life ยังมีนวัตกรรมเสริมนั่นคือการวัดระยะเพื่อเป่าพื้นให้แห้ง ซึ่งระบบจะทำงานทันทีเมื่อพื้นห้องน้ำมีความชื้น(เปียก) เกินกว่าค่าที่กำหนดหรือหลังผู้สูงอายุใช้ห้องน้ำเสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการล้มได้เป็นอย่างดี
ทีมที่ 4 “42/39” โดย “นายภูมิพิชิต กองวะมุด, นายทศพนธ์ ธนะสุทธิพันธ์และนายปรัชญา วงโยโพ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีผลงานนวัตกรรม “Glove Independ” มือช่วยจับเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มความสะดวกในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ของผู้สูงอายุ ซึ่งนวัตกรรมของถุงมือพิเศษนี้คือสามารถระบายอากาศได้ดี สวมใส่ได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังติด GPS เพื่อบอกตำแหน่งผู้ใช้ภายในบ้านให้ผู้ดูแลทราบว่า ผู้สูงอายุส่วนไหนภายในบ้าน
ทีมที่ 5 “Robot Fall Detector (RFD)” โดย “นายสรวิทญ์ พรหมนวล, นายเพชร จันทร์สุวรรณ์ และนางสาวอนงค์นาถ เที่ยงตรง” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี “Robot Fall Detector (RFD)” หุ่นยนต์สุดเจ๋งแจ้งเตือนการรับประทานอาหาร ทานยาของผู้สูงอายุ สามารถอยู่เป็นเพื่อนคุยพูดจาทักทายคลายเหงา ใช้งานคู่กับสายรัดข้อมือขนาดกำลังพอเหมาะ ไม่ทำให้ผู้สูงอายุรำคาญ มีกล้องที่คอยสอดส่องดูแลผู้สูงอายุตลอดเวลาว่าผู้สูงอายุกำลังทำอะไรอยู่ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเช่น ล้ม เจ้า Robot Fall Dectector(RFD) จะส่งข้อความไปทางไลน์ที่ตั้งค่าไว้เพื่อแจ้งให้ญาติได้รับรู้และช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา
ทีมที่ 6 “Stand by Me” โดย “นางสายรัก สอาดไพร, นายบารมี บุญมี” และ ไนยชัยพัฒน์ ศรีขจรลาภ” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผลงานนวัตกรรม “Sit to Stand Trainer with Assessment of Balance Ability : An Apparatus for Rehabilitation and Exercise for Elderly at Home” เป็นเก้าอี้นวัตกรรมที่ช่วยประคองผู้สูงอายุให้ยืนด้วยตัวเองได้หรือออกกำลังกายโดยผู้ใช้งานสามารถปรับแรงช่วยได้ตั้งแต่ 20-80% เก้าอี้ เปลี่ยนได้ตามสรีระของผู้ใช้เหมาะกับผู้สูงอายุที่สูงตั้งแต่ 145-190 เซนติเมตร พัฒนาเพื่อให้ผู้ป่วยรถเข็นสามารถใช้งานได้สะดวกขึ้นมีระบบโหมดการใช้งานถึง 3 โหมด ได้แก่ โหมดออกกำลังกาย ฝึกส่วนล่างของผู้ป่วยให้แข็งแรงเพื่อนำไปสู่การออกกำลังกายหรือการรักษาอื่นๆ ทางการแพทย์ต่อไป โหมดเกมฝึกสมองของผู้ป่วย เช่น นั่ง ยืนขาเดียว โหมดวัดการลุกนั่ง และเก็บสถิติ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการพบแพทย์
ทีมที่ 7 “มจพ.” โดย “นายปวริต วานิชขจร” และ “นายพงศกร สุรัตนะ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือผลงานนวัตกรรม “เครื่องวัดความเต็มของผ้าอ้อมผู้สูงอายุ” เครื่องมีขนาดบางและเบาลักษณะเป็นสติ๊กเกอร์สามารถถอดและแปะใหม่ได้ ไม่ทำให้ผู้สูงอายุรำคาญเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพียงแค่ติดไว้บนผ้าอ้อมที่ผู้สูงอายุสวมใส่เซ็นเซอร์ก็จะทำงานประมวลความชื้นจากผ้าอ้อม หากความชื้นจากผ้าอ้อมสูงกว่าที่กำหนดก็เท่ากับว่าผ้าอ้อมเต็มถึงเวลาเปลี่ยน เซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อให้ดูแลมาทำการเปลี่ยนผ้าอ้อมทำให้ไม่ต้องคอยเช็คผ้าอ้อมตลอดเวลา
ทีมที่ 8 “ZINTAP” โดย “นายอนิส เชิญถนอมวงศ์, นายระพีพัฒน์ ชุนเชียง และนายอัครพล ปิยวินท์” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับผลงานนวัตกรรม “สายรัดข้อมือระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ หรือผู้พิการภายในบ้านหรืออาคาร โดยใช้ iBeacon” ซึ่งจะทำงานผ่านระบบบลูทูธ โดยจะติดตั้งบลูทูธไว้แต่ละจุดในบ้านทำให้การตรวจจับละเอียดขึ้นถึงขนาดที่บอกได้ว่าผู้สูงอายุอยู่ส่วนใดของบ้าน เช่น นั่งอยู่บนโซฟา นอนอยู่บนเตียงในห้องนอน เป็นต้น
ทีมที่ 9 “Space Walker” โดย “นายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร, นายรมณ์ พานิชกุล และนายเมธาสิทธิ์ เกียรติชัยภา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาพร้อมกับนวัตกรรม “Space Walker” เหมาะสมหรับผู้ป่วยที่เดินด้วยตัวเองได้อย่างลำบาก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยในการฝึกเดินทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงโดยจะช่วยพยุงน้ำหนักของผู้สูงอายุ และช่วยในการเดินทั้งนี้ยังป้องกันการล้มหรือในกรณีที่ล้ม Space Walker จะป้องกันเข่าและศีรษะของผู้ใช้งานไม่ให้กระแทกพื้นซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายสะดวกในการพกพา
ทีมที่ 10 “พื้นพื้น” โดย “นางสาวอภิสรา วชิรพรพงศา และนายอนวัช พิพัฒน์กรกุล” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลงานนวัตกรรม “Smart Floor” พื้นอัจฉริยะเหมาะกับการใช้ในบ้านที่มีผู้สูงอายุสายตาไม่ดี เมื่อพื้นมีการเปียกน้ำจะเปลี่ยนสีทำให้ผู้สูงอายุทราบว่าจุดใดพื้นเปียกไม่ควรเดินไป ช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุภายในบ้าน Smart Floor ออกแบบให้มีพื้นผิวนุ่มกว่ากระเบื้องหรือพื้นปกติ สามารถติดตั้งง่าย ใช้ได้ทั้งแบบที่ติดตั้งใหม่และติดทับพื้นเดิมที่มีอยู่
ทีมที่ 11 “ข้าวโพด” โดย “นางสาวศิรินารถ ปล่องทอง นางสาวฐิราพร สุดอ่อน และ Mr. Sam Vithyea” มหาวิทยาลัยบูรพาผลงานนวัตกรรม .Hubidity Tape” อุปกรณ์วัดความชื้นของผ้าอ้อมเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง มีขนาดเพียง 10×8 เซนติเมตร จึงไม่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกอึดอัดเพียงแค่ติด Hubidity Tape ที่เตียงหรือจุดที่ผู้ป่วยนั่งเมื่อผ้าอ้อมเต็มก็จะส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับสัญญาณทันทีเพื่อให้ผู้ดูแลได้ทำการเปลี่ยนผ้าอ้อม
ทีมที่ 12 “Color de Art” โดย “นายอนุกุล รัดสำโรงและนางสาวมินตรา มานะวุฑฒ์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานนวัตกรรม “Smart lllumintion for Elderly at Home” แสงภายในบ้านและในห้องนอนที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งทีม Color de Art ได้ศึกษางานวิจัยต่างๆ มาอย่างละเอียดและพบว่าใช้แสงสามารถช่วยในกาบำบัดรักษาได้ โดยใช้ไบโอเซ็นเซอร์ตรวจการเต้นของหัวใจ ด้วยอุณหภูมิแสงปรับแสงให้เหมาะกับการเต้นของหัวใจ ใช้ร่วมกับสายรัดข้อมือที่ช่วยจับการเต้นของหัวใจ
ทีมที่ 13 “Xenon Technology” โดย “นายเกียรติศักดิ์ เกื้อขันสกุลและนายสุทัศน์ สุขจิต” มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผุดไอเดีย “เตียงอัจฉริยะ สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ป้องกันแผลกดทับ” ออกแบบให้มีขนาดเท่ากับเตียงนอนของผู้ป่วย มีลักษณะคล้ายผ้าปูที่นอนสามารถวัดระยะเวลาการนอนของผู้ป่วยได้ จับเวลาและรอบการพลิกตัวของผู้ป่วยติดเตียง เพื่อลดการเกิดแผลกดทับ พร้อมทั้งสามารถวัดความขึ้นบนที่นอนเมื่อผู้ป่วยปัสสาวะ การใช้งานควบคุมและแสดงผลผ่านแอพพิเคชั่น
ทีมที่ 14 “Pot-Table” โดย “นางสาวสิรินดา มธุรสสุคนธ์” และ “นายพีรดนย์ พิมพกรรณ์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนวัตกรรม “Pot-Table : อุปกรณ์ช่วยพยุงเครื่องใช้ในควรสำหรับผู้สูงอายุ” ว่ากันว่าผู้สูงอายุมักจะมีความสุขกับการทำอาหารโดย Pot-Table : อุปกรณ์ช่วยพยุงเครื่องใช้ในควรสำหรับผู้สูงอายุ” ว่ากันว่าผู้สูงอายุมักจะมีความสุขกับการทำอาหารโดย Pot-Table จะช่วยให้การหยิบ จับ ยก อุปกรณ์ในการทำอาหารภายในครัวเรือน เช่น หม้อ ของผู้สูงอายุปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อมือช่วยลดอุบัติเหตุในการประกอบอาหารของผู้สูงอายุได้
ทีมที่ 15 “Bot Therapist” โดย “นายสุจิรัชย์ อัฎฐะวิบูลย์กุล, นางสาวเพ็ญพิชชา หวังลาวัลย์” และ “นายก้องเกียรติ รสหอมภิวัฒน์” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับนวัตกรรม “หุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับเป็นเพื่อนผู้สูงอายุ พัฒนามาจากหุ่นที่ใช้กับเด็ก ออทิสติก” ออกแบบมาเพื่อให้อยู่เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ รูปลักษณ์เป็นมิตร น่ารักภายในหุ่นยนต์มีเกมส์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ
ทีมที่ 16 “คนไทยไม่ทิ้งกัน” โดย “นายพีรณัฐ บรรจงกิจ” และ “นายสวิส สุวรรณนิชกุล” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือกับผลงานนวัตกรรม” กระเบื้องห้องน้ำอัจฉริยะ” วัดแรงกดเพื่อช่วยให้รู้ว่าผู้สูงอายุล้มหรือไม่ โดยติดระบบเซนเซอร์ที่กระเบื้อง ซึ่งการเหยียบบนพื้นกระเบื้องของคนปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 4 แผ่น แต่ถ้าหากเซ็นเซอร์ที่กระเบื้องทำงานเกิน 7 แผ่นแสดงว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะล้มสูงระบบจะส่งสัญญาณไปขอความช่วยเหลือกับผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวตามที่ตั้งค่าไว้ ซึ่งความพิเศษของนวัตกรรมนี้ คือภายในห้องน้ำจะติดสปีคเกอร์ไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินผู้สูงอายุก็สามารถเรียกขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ทีมที่ 17 “LifeCare” โดย “นายทองยศ ศรีเพ็ง, นายฤทธิไกร พักดี” และ “นายผดุงเกียรติ ชุมทอง” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีผลงานนวัตกรรม “เครื่องอาบน้ำเอนกประสงค์” ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุอาบน้ำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีคนดูแล ใช้งานด้วยการดีไซน์การสั่งงานด้วยปุ่มกด และยังสามารถปรับอุณภูมิน้ำได้ตามต้องการ
ทีมที่ 18 “MERL X” โดย “นายนฤชา อมรดิษฐ์” และ “นายพีรศิลป์ เจริญยืนยาว” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังกับผลงานนวัตกรรม “ฐานปฏิบัตการกึ่งอัตโนมัติ ช่วยใส่กางเกงให้ผู้สูงอายุ” ผลงานที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนกางเกงได้ด้วยตัวเองแบบปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการก้มเปลี่ยนกางเกง
ทีมที่ 19 “Memo i-Care” โดย “นางสาวพูนสิริ ใจลังการ์” และ “นางสาวเมธิณี แสงประดิษฐ์” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับผลงานนวัตกรรม “Memobot” หุ่นยนต์ช่วยจ่ายยา เหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ Memobot จะช่วยแจ้งเตือนการจ่ายยาและส่งยาให้ผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและตรงเวลา เมื่อถึงเวลารับประทานยาจะส่งเสียงเตือนทั้งนี้เจ้า Memobot ยังจะอยู่เป็นเพื่อนเล่นคลายเหงาให้ผู้สูงอายุได้อีกด้วย ด้วยรูปลักษณ์ที่เล็ก น่ารัก สัมผัสนุ่มให้ความรู้สึกเหมือนตุ๊กตาจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
และนี่คือสุดยอดนวัตกรรมสุดยอดจากผุ้ที่ได้รับการคัดเลือกรอบแรกจากผู้เข้าประกวดทั่วประเทศไทย โดยทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัล เกียรติบัตร และได้รับสิทธิ์เดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น รางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร รางวัลที่ 3 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ซึ่งรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในศุกร์ ที่ 15 กันยายน 2560 ณ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโครงการประกวดได้ที่เว็บไซต์https://www.mtec.or.th/และเว็บไซต์https://www.facebook.com/ITCiAward

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]