แอบลุ้น พ.ร.บ.การอุดมศึกษาทันคลอดรัฐบาลนี้ *เพื่อบริหารงานคล่องตัวแนะกระจายอำนาจสู่สภามหาวิทยาลัย *แยกกลุ่ม ม.ให้ชัดเจน

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า จากความพยายามในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา โดยจะแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดี และอยากให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีความเข้าใจและมีเป้าหมายที่ต้องการแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ. หากเป็นรัฐบาลหน้าอาจจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ที่ตนเห็นด้วยให้มีการแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ. เพราะมองว่าบริทบการศึกษาของแต่ระดับมีเป้าหมายต่อการพัฒนานักเรียน นักศึกษาที่ต่างกัน การที่อยู่ภายใต้ ศธ. ซึ่งมีโครงสร้างที่ใหญ่อาจทำให้การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทำได้ไม่ตรงเป้าหมายนัก อย่างไรก็ตามเมื่อแยกออกเป็นกระทรวงอุดมศึกษาแล้ว การขับเคลื่อนจะต้องเปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับอาชีพ โดยปัจจุบันอาชีพขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก นวัตกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งมีความรวดเร็วมาก จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายของอุดมศึกษาให้มีความชัดเจน แบ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยที่เน้นงานวิจัย มหาวิทยาลัยที่เน้นพื้นฐานเทคโนโลยี เป็นต้น
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อยากให้มีการกระจายอำนาจสู่สภามหาวิทยาลัย โดยกระทรวงจะต้องส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้มีความคล่องตัวต่อการจัดการเรียนการสอน ตามทิศทางของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย เช่น กลุ่มราชมงคล กลุ่มราชภัฎ รวมถึงควรให้มหาวิทยาลัยที่มีเงินรายได้เป็นของตัวเองสามารถตั้งกรอบอัตรากำลังพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการบุคลากร ซึ่งปัจจุบันมีอุดมศึกษาส่วนหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ออกนอกระบบ การกระจายอำนาจให้สภามหาวิทยาลัยดูแลเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ดี
“เมื่อแยกกระทรวงแล้วจะต้องมีเป้าหมายมุ่งไปสู่การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย โดยใน พ.ร.บ.จะต้องมีการกำหนดทิศทางอุดมศึกษาไว้ให้ชัดเจน ขณะที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกกฎระเบียบแต่ละเรื่องเพื่อเป็นกรอบของ มหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น มีความคล่องตัวต่อการแข่งขันและปรับตัวต่อทิศทางของมหาวิทยาลัยในอนาคต เพราะเชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรต่างๆ จะเริ่มต้น เช่น ไม่มีสาขา หรือคณะ เหลือแต่หลักสูตร คณะอาจมีการเปลี่ยนเป็นสถาบัน เช่น สถาบันสุขภาพ สถาบันพลังงาน ดังนั้นบริบทที่จะเปลี่ยนควรให้สภามหาวิทยาลัยกำหนดทิศทาง ซึ่ง พ.ร.บ.ที่จะออกมานั้นจะต้องเอื้อต่อบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะมีความแตกต่างและการขับเคลื่อนในอนาคตจะมีความต่างกันมากขึ้นโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]